VZsR-WC--ks

ตลอดช่วงระยะเวลาการก่อสร้าง โรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 4-7 หรือ MMRP1  กฟผ. ได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามที่ระบุในรายงาน EHIA อย่างเคร่งครัด

ตามรายงาน EHIA ของโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 4-7 ในระยะก่อสร้าง ได้กำหนดมาตรการการดูแลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ไว้ 7 ด้าน ใหญ่ๆ คือ

1.มาตรการด้านคุณภาพอากาศ ได้มีการควบคุมปริมาณฝุ่นละอองที่อาจเกิดระหว่างการก่อสร้าง โดยกำหนดมาตรการให้มีการคลุมปิดรถขนวัสดุก่อสร้าง และจำกัดความเร็วของรถบรรทุกที่วิ่งภายในพื้นที่ก่อสร้าง ตลอดจนมีการรดพรมน้ำบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง เพื่อลดการฟุ้งกระจายของฝุ่นละออง

2. มาตการการควบคุมความดังเสียง ได้มีการกำหนดให้หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมหรือการก่อสร้างที่ก่อให้เกิดเสียงดังมากๆ ในช่วงเวลา 19.00 -06.00 น. ซึ่งหากมีความจำเป็นต้องดำเนินการนอกเหนือจากเวลานี้ ต้องแจ้งให้ประชาชนทราบ นอกจากนั้นโครงการฯ ยังเลือกใช้วิธีการและอุปกรณ์ที่ก่อให้เกิดเสียงดังในระดับต่ำ เช่น การเลือกใช้วิธีเสาเข็มเจาะแทนการตอกเสาเข็ม เพื่อลดเสียงที่อาจก่อให้เกิดความรำคาญแก่ชุมชนใกล้เคียงได้ ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีการตรวจพบเสียงที่ดังเกินกว่ามาตรฐาน

3.ด้านการดูแลคุณภาพน้ำผิวดินและน้ำใต้ดิน โครงการฯ มีการควบคุมดูแลระบบระบายน้ำให้อยู่ในสภาพที่ใช้การได้ดีอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันได้สร้างรางระบายน้ำแบบคอนกรีตถาวรรอบพื้นที่ ตลอดจนห้ามทิ้งเศษวัสดุและขยะลงสู่ทางน้ำทิ้งที่ผ่านระบบบำบัดชีววิธี และอ่างเก็บน้ำแม่เมาะ เพื่อป้องกันการเน่าเสีย อีกทั้งได้มีระบบบำบัดน้ำเสียในพื้นที่พักของคนงานก่อสร้างก่อนปล่อยลงสู่ชุมชน

4. การดูแลคุณภาพของดิน มีการจัดทำหลังคาแบบปิดครอบสายพานลำเลียงเถ้าและถ่าน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการฟุ้งกระจายและปนเปื้อนไปยังผิวดินโดยรอบโครงการฯ

5. การกำจัดกากของเสีย มีการแยกประเภทการกำจัดกากของเสียอย่างเป็นระบบ โดยเศษวัสดุก่อสร้างจะถูกนำไปทิ้งกองรวมยังจุดแยกทิ้งที่ห่างไกลชุมชน เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่หรือขายต่อ ส่วนกากขยะมูลฝอยจะมีถังแยกประเภทของขยะ ซึ่งขยะทั่วไปเทศบาลแม่เมาะจะนำไปกำจัด ส่วนขยะรีไซเคิลและขยะอันตราย ได้จ้างบริษัทเอกชนที่ได้รับอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมนำไปกำจัด

6.ด้านการคมนาคม ได้มีการจำกัดความเร็วของรถบรรทุกขนส่งวัสดุก่อสร้าง และรถรับเถ้าลอย ที่วิ่งเข้าออกในพื้นที่โครงการฯ ไม่เกิน 20 กิโลเมตร/ชั่วโมง และหลีกเลี่ยงการขนส่งในเวลาเร่งด่วน ตลอดจนมีการจัดทำแผนรองรับอุบัติเหตุร่วมกับหน่วยงานราชการในท้องที่ ให้เกิดความรวดเร็วในการเข้าควบคุมระงับ หากเกิดอุบัติเหตุไม่คาดคิด และมาตรการสุดท้ายคือการดูแลด้านสาธารณสุขของชุมชน และผู้ปฏิบัติงานภายใน โดยมีการจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกตรวจสุขภาพประชาชนในพื้นที่รอบโครงการและตำบลทั้ง 5 ของ อ.แม่เมาะ ตลอดจนให้คำแนะนำและปรึกษาในการดูแลสุขภาพด้านต่างๆ ทั้งการเฝ้าระวังโรคติดต่อ และอบรมให้ความรู้แก่ อสม. ในการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ในส่วนของผู้ปฏิบัติงานและลูกจ้างบริษัทได้มีการจัดตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อส่งเสริมให้เกิดการดูแลสุขภาพตนเองอยู่เสมอ

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการปฏิบัติตามรายงาน EHIA ที่ กฟผ.ได้ดำเนินการปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ซึ่งสามารถมั่นใจได้ว่าโครงการได้ดำเนินการมาอย่างราบรื่น และส่งผลกระทบต่อชุมชนและผู้มีส่วนได้เสียน้อยที่สุด  โดยในปัจจุบัน โรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 4-7 ได้เข้าสู่ระยะดำเนินการ คือการทดสอบระบบอุปกรณ์ทุกส่วน และสมรรถนะในการผลิตกระแสไฟฟ้าให้มีความพร้อมสูงสุด ก่อนจะสู่การเดินเครื่องเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการภายในปี 2562