gdCFsMpgvu8

กฟผ.แม่เมาะ เดินหน้านำเชื้อเพลิงชีวมวลเผาไหม้ร่วมกับถ่านหิน  ลดปริมาณการปล่อย CO2 และฝุ่นละอองขนาดเล็กจากการเผาพื้นที่เกษตรกรรม

ปี 2560 ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะได้ทำวิจัยเกี่ยวกับการนำเศษวัชพืชทางการเกษตรอย่าง ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ไม้ไผ่ มาแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง ซึ่งผลการวิจัยพบว่าเชื้อเพลิงชีวมวลมีค่าความร้อนเพียงพอที่สามารถนำมาเผาไหม้ร่วมกับถ่านหิน โดยไม่ส่งผลกระทบต่อเครื่องจักรในระบบการผลิตกระแสไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ หากนำมาใช้ในสัดส่วนที่เหมาะสม  ปัจจุบันโรงไฟฟ้าแม่เมาะจึงเริ่มผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง และนำเข้าใช้จริงในระบบการผลิตของโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 12 และ 13 แล้ว ถือเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งแรกของประเทศไทยที่ใช้ระบบการเผาไหม้ร่วม นอกจากนั้นโครงการนี้ยังเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญของแผนงานด้านพลังงานอัจฉริยะ ในโครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ หรือ Mae Moh Smart City อีกด้วย

สำหรับการจัดหาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเพื่อนำมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงนั้น โรงไฟฟ้าแม่เมาะได้เข้าหารือเพื่อขอคำแนะนำและแนวทางปฏิบัติจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงได้ลงพื้นที่ชุมชนเพื่อสำรวจความพร้อมของพื้นที่ที่มีศักยภาพในการจัดหาเศษวัชพืชเหลือใช้ทางการเกษตรที่เพียงพอต่อการผลิตเป็นชีวมวลอัดเม็ด ซึ่งเบื้องต้นในปี 2564 นี้ จะใช้เศษชีวมวลที่จัดหาได้ในพื้นที่ กฟผ.แม่เมาะก่อน และในปี 2565 จะดำเนินการรับซื้อเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรกับกลุ่มชุมชนในพื้นที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

ทั้งนี้ การใช้เชื้อเพลิงชีวมวลร่วมกับถ่านหินในกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้า จะช่วยลดกิจกรรมการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในพื้นที่อำเภอแม่เมาะที่เป็นสาเหตุการเกิดหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในช่วงต้นปีตลอดจนยังช่วยให้ชุมชนในพื้นที่อำเภอแม่เมาะมีรายได้จากการขายเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรของชุมชนอีกด้วย  ซึ่งจากการคำนวณเชิงเศรษฐศาสตร์ โครงการดังกล่าวสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นสาเหตุของการเกิดก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 6,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี