กฟผ.แม่เมาะ เตรียมมาตรการรับมือวิกฤตการณ์หมอกควัน พร้อมจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว เฝ้าระวังและลาดตระเวนให้สามารถดับไฟได้ทันท่วงที ไม่กระทบต่อระบบการผลิตกระแสไฟฟ้าและลุกลามไปยังที่อยู่อาศัยของชุมชน

สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 กลายเป็นอีกหนึ่งภัยจิ๋วตัวร้ายใกล้ตัว ส่งผลต่อสุขภาพระบบทางเดินหายใจของสิ่งมีชีวิตทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ตลอดจนมีผลต่อสภาพแวดล้อมโดยรวม แม้หน่วยงานต่างๆ หรือกระทั่งประชาชนเองมีความตื่นตัวกับเรื่องนี้มากขึ้น พยายามรณรงค์และดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่ช่วยลดปัญหาดังกล่าว  แต่ดูเหมือนสถานการณ์จะเลวร้ายขึ้นทุกปี เนื่องด้วยสาเหตุหลายประการทั้งที่ควบคุมได้ และควบคุมไม่ได้ เช่น สภาพอากาศปิดในช่วงต้นปี การเผาป่าและเศษพืช ตลอดจนควันไอเสียจากยานพาหนะ และโรงงานอุตสาหกรรมที่ไม่ได้มาตรฐาน เป็นต้น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แม่เมาะ เป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าที่ประกอบไปด้วย โรงไฟฟ้าแม่เมาะ และเหมืองแม่เมาะ คงปฏิเสธไม่ได้ที่จะถูกเพ่งเล็งจากสาธารณชนทั่วไป ให้เป็นหนึ่งในแหล่งที่มาของฝุ่น PM2.5

ล่าสุด นายชัยพร ไพฑูรย์ ผู้อำนวยการฝ่ายการผลิตโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ได้ให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมา กฟผ.แม่เมาะ ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อสถานการณ์ดังกล่าว ได้ออกมาตรการเชิงรุกและเชิงรับในการป้องกัน แก้ไข บรรเทา และยับยั้งเหตุไฟป่าอันเป็นแหล่งกำเนิดหลักของฝุ่น PM2.5 ทั้งยังควบคุมดูแลระบบการผลิตและกำจัดมลภาวะจากกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้า ให้มีค่าที่ดีกว่ามาตรฐานตลอดมา ซึ่งมาตรการในการป้องกันและระงับไฟป่า ได้วางแผนให้ครอบคลุมทั้งพื้นที่ กฟผ.แม่เมาะ และพื้นที่ชุมชนใกล้เคียง โดยดำเนินการตามมาตรการดังนี้

1.แบ่งการดำเนินการเป็น 3 ช่วง ได้แก่

1.1 การเตรียมการก่อนฤดูแล้ง โดยเริ่มตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม 2562  แบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ  ระดับความเสี่ยงสูง ได้แก่ บริเวณรอยต่อระหว่างป่าธรรมชาติกับพื้นที่ฟื้นฟูเหมืองแม่เมาะ, พื้นที่บ่อเหมืองที่ไม่มีการทำงาน, พื้นที่ฟื้นฟูที่มีคนเข้ามาหาของป่าและพื้นที่กองขยะ  ระดับความเสี่ยงน้อย ได้แก่ พื้นที่บ่อเหมืองที่มีการทำงาน, พื้นที่ป่าปลูกใหม่ และพื้นที่อาคาร รวมถึงสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ นอกจากนี้ยังได้เตรียมความพร้อมของเครื่องจักรรวมถึงอุปกรณ์สนับสนุนที่ใช้สำหรับดับไฟ เช่น รถบรรทุกน้ำ อุปกรณ์ดับไฟป่า และวิทยุสื่อสาร เป็นต้น

1.2 การทำแนวป้องกันไฟป่า ภายในพื้นที่ กฟผ.แม่เมาะ ระยะทางรวม 162 กิโลเมตร

1.3 จัดตั้งหน่วยงานเฝ้าระวังและระงับไฟป่า หรือชุดเคลื่อนที่เร็ว เฝ้าระวังและลาดตระเวนตรวจพื้นที่พร้อมอุปกรณ์ดับไฟ เช่น ไม้ตบ คราด ถังน้ำสะพายหลังพร้อมสายฉีดน้ำ เป็นต้น

2.ควบคุมดูแลและตรวจสอบระบบการกำจัดมลสารของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ให้ทำงานเป็นปกติอยู่เสมอ ในส่วนของการทำเหมือง เพิ่มความถี่ในการสเปรย์น้ำภายในบ่อเหมืองเพื่อลดการฟุ้งกระจายของฝุ่น

3.ให้ความร่วมมือกับ จ.ลำปาง อ.แม่เมาะ ส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนชุมชนโดยรอบ ในการรับแจ้งเหตุไฟป่าโดยรอบพื้นที่ อ.แม่เมาะ พร้อมสนับสนุนเครื่องจักร กำลังคน และรถฉีดพ่นน้ำเพื่อลดฝุ่นในพื้นที่ อ.แม่เมาะ

4.ติดป้ายรณรงค์การหยุดหรือหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจทำให้เกิดไฟป่า ตลอดจนแจ้งเตือนแก่ผู้ปฏิบัติงานและชุมชนใกล้เคียงให้ป้องกันตนเองโดยการสวมใส่หน้ากากอนามัยขณะทำกิจกรรมกลางแจ้ง

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหา PM2.5 คงจะไม่สำเร็จได้เพียงแค่การดำเนินการจากคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หากแต่ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะประชาชนที่จะร่วมเป็นหูเป็นตาในการแจ้งเหตุและหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดแหล่งกำเนิด PM2.5 เพื่อคืนฟ้าใสและอากาศบริสุทธิ์ให้เราได้หายใจได้อย่างเต็มปอดตลอดทั้งปี