กฟผ.แม่เมาะ อบรมเชิงปฏิบัติการเตรียมขับเคลื่อนแม่เมาะสู่เมืองอัจฉริยะ Mae Moh Smart City

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แม่เมาะ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับหัวหน้าส่วนราชการอำเภอแม่เมาะ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชนอำเภอแม่เมาะ ผู้แทนคณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า ผู้แทนสมาคมพัฒนาแม่เมาะ และผู้ปฏิบัติงาน กฟผ.แม่เมาะ โดยร่วมกันฝึกระดมความคิด (Brainstorming) ตามกรอบการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Mae Moh Smart City) เพื่อเตรียมขับเคลื่อนและพัฒนาอำเภอแม่เมาะให้เป็นเมืองอัจฉริยะภายใต้หลักการศาสตร์พระราชา และชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2562 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) แม่เมาะ ได้จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการแม่เมาะเมืองอัจฉริยะ (Mae Moh Smart City)  โดยมี นายนิมิตร ผดุงศิลป์ไพโรจน์ นายอำเภอแม่เมาะ เป็นประธานเปิดการอบรม ในการนี้นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ ได้ร่วมบรรยายหัวข้อ Smart City แม่เมาะเมืองน่าอยู่, นายพิษณุ ทรัพย์สกุล สถาปนิกระดับ 10 ฝ่ายออกแบบและบริหารงานก่อสร้าง บรรยายหัวข้อแผนการฟื้นฟูสภาพเหมืองแม่เมาะ และนางณิษา ปฐมเรืองกุล หัวหน้าแผนกประชาสัมพันธ์โรงไฟฟ้าแม่เมาะ บรรยายหัวข้อ การท่องเที่ยวของ กฟผ.และชุมชน  มีอาจารย์สุทธิณีย์ ฉัตรยาลักษณ์ หัวหน้างานแนะแนวและจัดหางาน กองพัฒนานักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นวิทยากรกระบวนการดำเนินการสัมมนา  โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชนอำเภอแม่เมาะ ตลอดจนผู้แทนคณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า ผู้แทนสมาคมพัฒนาแม่เมาะ และผู้ปฏิบัติงาน กฟผ.แม่เมาะ กว่า 60 คน  เข้ารับการอบรมและร่วมฝึกปฏิบัติระดมความคิดเห็นเพื่อเสนอแนวทางการขับเคลื่อนอำเภอแม่เมาะมุ่งสู่เมืองอัจฉริยะที่มีการบริหารจัดการด้านพลังงานและการพัฒนาชุมชนด้านต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ

นายนิมิตร ผดุงศิลป์ไพโรจน์ นายอำเภอแม่เมาะ กล่าวว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเมือง เพื่อให้เกิดการกระจายความเจริญอย่างเท่าเทียมกันในทุกภูมิภาค โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานมีนโยบายให้ กฟผ.ดำเนินการพัฒนาพื้นที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะ และพื้นที่โดยรอบ ให้เป็นเมืองอัจฉริยะ (Mae Moh Smart City) เพื่อให้ประชาชนอยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืน จึงมอบหมายให้

กฟผ.แม่เมาะ ร่วมกับส่วนราชการและประชาชนในพื้นที่จัดทำแผนพัฒนา 20 ปี และดำเนินการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในอำเภอแม่เมาะภายใต้กรอบหลักการศาสตร์พระราชาและ Sustainable Development Goals (SDG) โดยมีเป้าหมาย เพื่อให้ชุมชนพึ่งตนเองได้ นำไปสู่วิสาหกิจชุมชนและวิสาหกิจเพื่อสังคมภายใต้กรอบแนวทางการพัฒนาแม่เมาะเมืองอัจฉริยะ ไว้ 4 แนวทาง ได้แก่ 1.พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy)  2.การเกษตรอัจฉริยะ (Smart Agriculture)   3.สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) และ4.การท่องเที่ยวอัจฉริยะ (Smart Tourism)

อาจารย์สุทธิณีย์ ฉัตรยาลักษณ์ วิทยากรกระบวนการ กล่าวว่า ชาวอำเภอแม่เมาะมีต้นทุนที่ดีเนื่องจากมีองค์กรขนาดใหญ่ที่มีต้นทุนด้านทรัพยากรบุคคล งบประมาณ องค์ความรู้ ความเป็นชุมชนที่มีความเกื้อกูลกันจะเป็นต้นทุนที่ดีที่จะทำให้การพัฒนาขับเคลื่อนไปได้ สำหรับการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการในวันนี้เป็นการให้ความรู้ความเข้าใจว่า Smart City คืออะไร ซึ่งการพัฒนาเป็นเมืองอัจฉริยะนั้นไม่ได้เป็นการให้บริการจากหน่วยงานส่วนใดหน่วยงานหนึ่งหรือจากส่วนใดส่วนหนึ่ง

แต่ทุกภาคส่วนต้องมาร่วมมือกันเพื่อให้เกิดการบริการที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึงโดยใช้ฐานข้อมูลที่มาจากทุกภาคส่วนเป็นตัวกำกับ ซึ่งจากการสังเกตการณ์ผู้เข้าฝึกอบรมร่วมกันระดมความคิด (Brainstorming) กว่าร้อยละ 80 เป็นผู้มีความเข้าใจในความหมายของเมืองอัจฉริยะ โดยจากนี้ไปจะเป็นการบูรณาการทำงานที่ทุกภาคส่วนจะต้องประสานความร่วมมือกัน เพื่อเริ่มจัดทำแผนยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนอำเภอแม่เมาะให้เป็นเมืองอัจฉริยะ (Mae Moh Smart City)