3IgcSBkdr1w

นับตั้งแต่ กฟผ. เริ่มดำเนินการโครงการขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 4-7 หรือ MMRP1 เมื่อปี 2560 ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน   หนึ่งในการประเด็นสำคัญจากเสียงสะท้อนในครั้งนั้นคือเรื่องการจัดสรรงบประมาณ CSR ในด้านสาธารณูปโภค ที่ กฟผ. เห็นชอบเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างมีรูปธรรม จึงให้ความเห็นชอบจัดสรรงบประมาณด้านนี้ให้มากขึ้น  จากตำบลละ 5 แสน เป็นตำบลละ 5 ล้านบาท

นอกจากการจัดสรรงบประมาณแล้ว กฟผ. ยังใส่ใจกับสาธารณูปโภคและสิ่งแวดล้อมของชุมชน   โดยการพิจารณาการใช้งบประมาณดังกล่าวนี้  จะคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดต่อชุมชนในแต่ละพื้นที่  ไม่ว่าจะเป็น ด้านการคมนาคม ได้แก่ การปรับปรุงเส้นทางถนนในพื้นที่ตำบลจางเหนือ  ซึ่งนอกจากจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนในการสัญจรแล้ว ยังช่วยให้การขนส่งผลผลิตทางการเกษตรของชุมชนสะดวกขึ้นอีกด้วย  เนื่องจากชุมชนตำบลจางเหนือโดยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม

นาสัก เป็นอีกหนึ่งตำบลที่ กฟผ. และ กองทุนพัฒนาไฟฟ้า โรงไฟฟ้าแม่เมาะ ร่วมมือกัน ทำให้เกิดมติใหม่ในการพัฒนาพื้นที่แบบบูรณาการ   จากเดิมฝายห้วยแม่เผียน ที่กักเก็บน้ำไม่ได้  กฟผ. ชุมชน และคณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า ร่วมกันซ่อมแซมตลิ่ง และบริหารจัดการน้ำเพื่อใช้ประโยชน์ในการอุปโภคและการเกษตร

เช่นเดียวกับประปาบ้านเมาะสถานี ที่ กฟผ. ร่วมกับชุมชน สร้างระบบจัดการปั๊มน้ำทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดย กฟผ. ร่วมกับ คณะกรรมการประปาหมู่บ้าน ได้นำเอาความรู้หลากหลายสาขาเข้าไปแก้ไขปัญหาระบบประปาหมู่บ้าน  ได้แก่ ความรู้ด้านระบบควบคุมอัตโนมัติ  ทำให้คณะกรรมการ ฯ ทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น  มีเวลาไปพัฒนาและแก้ไขปัญหาอื่น ๆ ได้มากขึ้น รวมถึงความรู้ด้านพลังงานทางเลือกที่จะนำมาปรับใช้เพื่อลดค่าประแสไฟฟ้าในอนาคต  เป็นต้น

ในพื้นที่ตำบลแม่เมาะยังมีอ่างเก็บน้ำแม่เมาะ ที่บ้านแม่เมาะสถานี  ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญในพื้นที่ที่ปัจจุบันมีปัญหาวัชพืชน้ำ ปัจจุบัน กฟผ. ได้นำเรือกำจัดวัชพืชน้ำแบบบดละเอียดเข้ามาทดลองดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าว และจะขยายผลต่อไปทั่วอำเภอแม่เมาะร่วมกับทุกหน่วยงานในพื้นที่อำเภอแม่เมาะ

ป่าต้นน้ำห้วยคิงตอนบนถือเป็นป่าแหล่งน้ำที่ใช้ในการทำประปาให้กับคนแม่เมาะ กฟผ. เห็นถึงความสำคัญของป่าต้นน้ำ จึงดึงเอาความร่วมมือจากหน่วยงานหลายภาคี ร่วมพิทักษ์ป่า เพื่อรักษาพื้นที่นี้ไว้ให้อุดมสมบูรณ์มากที่สุด

พร้อมกันนี้ กฟผ.ยังน้อมนำเอา ศาสตร์พระราชา เข้ามาใช้ในกิจกรรมการพัฒนาพื้นที่ในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการพิทักษ์ป่า ในพื้นที่อำเภอแม่เมาะ การส่งเสริมผลผลิตจากน้ำผึ้งป่าจากบ้านกลาง และกลุ่มจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรตำบลนาสัก  ทั้งนี้ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาชุมชนให้สามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน