4SGSqcgaOVU

กรมชลประทาน เป็นองค์กรที่นำพัฒนาด้านแหล่งน้ำ และจัดการน้ำอย่างบูรณาการ โดยการพัฒนาแหล่งน้ำและพื้นที่ชลประทานตามศักยภาพของลุ่มน้ำให้เกิดความสมดุล  บริหารจัดการน้ำให้เพียงพอทั่วถึงและเป็นธรรม ป้องกันและบรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำ เสริมสร้างการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำ

โครงการชลประทานเชียงราย เป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักงานชลประทานที่ 2 ทำหน้าที่แทนกรมชลประทานในระดับจังหวัด แบ่งหน่วยงานภายในออกเป็น  1 งาน 8 ฝ่าย ประกอบด้วย 1. งานบริหารทั่วไป

  1. ฝ่ายวิศวกรรม 3. ฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน 4.ฝ่ายช่างกล 5. ฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 1-5

จังหวัดเชียงราย มีลุ่มน้ำหลัก 2 ลุ่มน้ำ คือ ลุ่มน้ำกก และลุ่มน้ำโขงเหนือ หรือ น้ำอิง   โดยลุ่มน้ำกก มีพื้นที่ควบคุม 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดเชียงราย พื้นที่ลุ่มน้ำ 4,934,375  ไร่

ปัญหาในการรับปริมาณมวลน้ำจำนวนมากๆ เมื่อมีฝนตกบริเวณพื้นที่ต้นน้ำแม่ลาว ในเขตอำเภอเวียงป่าเป้า และพื้นที่ต้นน้ำแม่กรณ์ในเขตอำเภอเมืองเชียงราย  หากฝนตกติดต่อกันนานสามวัน จะทำให้เกิดพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยในเขตชุมชน อย่างเช่นเมื่อ วันที่ 10 กันยายน 2546 ที่ผ่านมา บริเวณฝายแม่ลาว ตำบลดงมะดะ อำเภอแม่ลาว ฝนตกลงมาวัดได้ 96 มิลลิเมตร มีบริเวณน้ำไหลผ่านฝายแม่ลาว ถึง 354 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้เกิดน้ำท่วมบริเวณพื้นที่ราบลุ่มริมน้ำแม่ลาว ไหลเข้าท่วมพื้นที่เศรษฐกิจในเขตอำเภอเมืองเชียงราย ที่สามารถรองรับปริมาณน้ำได้เพียง 180 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีเท่านั้น ในขณะที่น้ำแม่กรณ์สามารถรับปริมาณน้ำท่าได้เพียง 40 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

การแก้ไขปัญหาอุทกภัย ในลำน้ำแม่ลาว ดำเนินการก่อสร้างคันกั้นน้ำแม่ลาว และโครงการปรับปรุงประตูระบายน้ำฝายชัยสมบัติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำเพิ่มขึ้นจาก 200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็น 380 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

การแก้ไขปัญหาอุทกภัยในลำน้ำแม่กรณ์  ได้ดำเนินโครงการปรับปรุงฝายในลำน้ำแม่กรณ์ จำนวน 6 แห่ง สามารถระบายน้ำได้ 90 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีและโครงการผันน้ำแม่กรณ์แม่น้ำกก สามารถระบายน้ำได้ 50 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

การพัฒนาแหล่งน้ำของกรมชลประทานในลุ่มน้ำกก  ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย มีการดำเนินการก่อสร้าง ฝายแม่ลาว ฝายโป่งนก ฝายถ้ำวอก ฝายชัยสมบัติ ฝายเชียงราย อ่างเก็บน้ำแม่สรวย อ่างเก็บน้ำดอยงูและโครงการชลประทานขนาดเล็ก จำนวน 178 แห่ง ความจุเก็บกัก รวม 102.321 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่ชลประทานรวม 372,730 ไร่

สำหรับแผนงานพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยในลุ่มน้ำกก ในระยะต่อไป กรมชลประทานจะพัฒนาเพิ่มพื้นที่ชลประทานรวม 92,150 ไร่และเพิ่มความจุเก็บกักรวม 54.4030 ล้านลูกบาศก์เมตร

ลุ่มน้ำโขงเหนือ หรือ น้ำอิง  มีพื้นที่ควบคุม 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพะเยา และจังหวัดเชียงราย  ลำน้ำสายสำคัญในเขตจังหวัดเชียงราย ได้แก่ น้ำแม่พุง น้ำอิง น้ำลาว น้ำงาว น้ำหงาว น้ำแม่ต๊าก น้ำแม่คำ และน้ำแม่จัน

ช่วงฤดูน้ำหลากปริมาณน้ำในลำน้ำอิงมีมาก ประกอบกับแม่น้ำโขงหนุนสูง ทำให้ปริมาณน้ำเอ่อล้นตลิ่งท่วมพื้นที่การเกษตร ซึ่งเป็นพื้นที่ราบลุ่มต่ำสองฝั่งลำน้ำ สำหรับพื้นที่ด้านลำน้ำแม่จันและลำน้ำแม่คำ สภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาลาดชัน ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่ม พื้นที่ตอนกลางเป็นที่ลุ่มต่ำเกิดน้ำล้นตลิ่งท่วมพื้นที่ชุมชนและพื้นที่การเกษตร

การพัฒนาแหล่งน้ำของกรมชลประทานในลุ่มน้ำโขงเหนือ หรือน้ำอิง ในพื้นที่จังหวัดเชียงรายมีการดำเนินการก่อสร้าง อ่างเก็บน้ำห้วยช้าง อ่างเก็บน้ำแม่ต๊าก และโครงการชลประทานขนาดเล็ก จำนวน 415 แห่ง ความจุเก็บกักรวม 82.753  ล้าน ลบ.ม.พื้นที่ชลประทานรวม 310,005 ไร่

สำหรับแผนงานพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยในลุ่มน้ำโขงเหนือ หรือน้ำอิง ในระยะต่อไปของกรมชลประทาน พัฒนาเพิ่มพื้นที่ชลประทานรวม 268,025 ไร่ และเพิ่มความจุเก็บกักรวม 103.192 ล้านลูกบาศก์เมตร

การเฝ้าระวังและเตือนภัยอันเกิดจากน้ำ  กรมชลประทานติดตามสถานการณ์น้ำทั้งสองลุ่มน้ำเพื่อเฝ้าระวังและเตือนภัยโดยได้บูรณาการกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดด้วยระบบโทรมาตร

กรมชลประทาน ยังคงมุ่งมั่นในการบริหารจัดการน้ำ  ร่วมมือกับทุกภาคส่วน โดยมีภาคประชาชนเป็นกำลังสำคัญในการรักษาป่า รักษาต้นน้ำ และแหล่งกักเก็บน้ำ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการใช้น้ำตลอดไป