cDqAW7TefdI

     โครงการชลประทานน่าน  เป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักงานชลประทานที่ 2  กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แบ่งหน่วยงานภายในออกเป็น 1 งาน 7 ฝ่าย ประกอบด้วย   งานบริหารทั่วไป  ฝ่ายวิศวกรรม  ฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน   ฝ่ายช่างกล  และ ฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 1-4   รับผิดชอบในการบูรณาการแผนงานด้านการบริหารจัดการน้ำ และพัฒนาแหล่งน้ำร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ  เอกชน  และชุมชน  เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน

วางแผน ควบคุม ตรวจสอบ ประเมินผล การบริหารจัดการน้ำ การเก็บกัก ทดน้ำ ส่งน้ำ ระบายน้ำ  ป้องกันภัยอันเกิดจากน้ำในพื้นที่  กำกับดูแล  ดำเนินโครงการให้ถูกต้องสอดคล้องกับนโยบายและความต้องการของประชาชน ก่อสร้าง  ซ่อมแซม  บำรุงรักษาอาคารและระบบชลประทาน ให้เป็นไปตามรูปแบบ  ดูแลการใช้ทางน้ำชลประทาน  ให้ถูกต้องตามระเบียบและกฎหมาย  เตรียมเครื่องจักรให้พร้อมใช้งานเสมอ  เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ ให้แก่องค์กรผู้ใช้น้ำ บริหารจัดการน้ำอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

จังหวัดน่าน มีพื้นที่ทั้งหมด 7,581,035 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่การเกษตร 1,460,245 ไร่  มีความต้องการน้ำเพื่อการเกษตร 468 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี  เพื่อการอุปโภคบริโภคและอุตสาหกรรม และด้านปศุสัตว์ 35.55 ล้านลูกบาศก์เมตร  รวมมีความต้องการใช้น้ำต่อปี ประมาณ  503.55 ล้าน ลูกบาศก์เมตรต่อปี

จังหวัดน่าน ประกอบด้วย 2 ลุ่มน้ำหลัก คือ  ลุ่มน้ำน่าน  และลุ่มน้ำยม   ลุ่มน้ำน่าน มีพื้นที่ 34,908  ตารางกิโลเมตร  ประกอบด้วย 10 ลุ่มน้ำย่อย ประกอบด้วย ลำน้ำยาวตะวันออก ลำน้ำปัว ลำน้ำยาวตะวันตก ลำน้ำสา ลำน้ำหว้า และ ลำน้ำแหง  ลำน้ำกอน ลำน้ำแหต ลำน้ำสมุน ลำน้ำแก่น และมีลำน้ำสายหลัก คือ ลำน้ำน่าน

จังหวัดน่านมีพื้นที่เสี่ยงการเกิดน้ำท่วมซ้ำซากสูง อยู่บริเวณน้ำน่านเขตอำเภอเมืองน่าน อำเภอภูเพียง และอำเภอเวียงสา สาเหตุเกิดจากฝนตกหนักเป็นเวลานานในพื้นที่ต้นน้ำ   ทำให้น้ำท่วมหลายพื้นที่แบบฉับพลัน  ในพื้นที่ริมตลิ่งบริเวณเทศบาลเมืองน่าน และเทศบาลตำบลกลางเวียง อำเภอเวียงสา

กรมชลประทาน  มีแนวทางการแก้ไขปัญหาอุทกภัย  โดยใช้แผนงานที่ไม่ใช่สิ่งก่อสร้าง ได้แก่ การวางแผนการระบายน้ำและการเฝ้าระวังและเตือนภัย  และใช้แผนงานที่ใช้สิ่งก่อสร้าง คือ การพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำ ประเภทอ่างเก็บน้ำขนาดกลางขนาดเล็ก  พัฒนาแหล่งน้ำประเภทฝายน้ำล้น  เพื่อกักเก็บน้ำและชะลอการไหลของน้ำ

การเฝ้าระวังเตือนภัยในลุ่มน้ำน่าน วัดจากปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยของ 6 อำเภอ  ได้แก่ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอปัว อำเภอเชียงกลาง อภำเภอสองแคว อำเภอทุ่งช้าง และอำเภอท่าวังผา โดยนำข้อมูลน้ำฝนที่วัดได้ในหนึ่งวันมารวมกัน แล้วหาค่าเฉลี่ยทั้ง 6 อำเภอ หากปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยมากกว่า 80 มิลลิเมตร จะทำให้เกิดปริมาณน้ำหลากไหลลงสู่แม่น้ำน่าน และมีโอกาสน้ำเอ่อล้นตลิ่งในเขตพื้นที่เทศบาลเมืองน่าน

โครงการชลประทานน่าน ได้มีการเฝ้าระวังติดตามและการเตือนภัยล่วงหน้า โดยติดตั้งระบบโทรมาส จำนวน 3 แห่ง สำหรับวัดท่าน้ำแบบอัตโนมัติ  เพื่อแจ้งให้ประชาชนได้ทราบ

การแก้ไขปัญหาอุทกภัยและลดความเสียหายในด้านเศรษฐกิจชุมชนเมืองน่าน ได้บูรณาการกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง  ส่งผลให้การแก้ไขปัญหาอุทกภัย  ประสบความสำเร็จได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในลุ่มน้ำน่าน  และปัญหาภัยแล้ง  โครงการชลประทานน่าน  ยังมีแนวทางแก้ไขปัญหาภัยแล้ง  โดยวางแผนการบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูแล้งในแต่ละอ่างเก็บน้ำ ประชุมวางแผนร่วมกับเกษตรกรก่อนถึงฤดูแล้ง เพื่อบริหารจัดการน้ำ  พร้อมประสานงานร่วมกับหน่วยงานในจังหวัด

ในส่วนของโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในลุ่มน้ำน่าน ปัจจุบันที่ดำเนินการแล้วเสร็จ ประกอบด้วย โครงการขนาดกลาง 9 แห่ง โครงการขนาดเล็กและอื่น ๆ 441 แห่ง  สามารถกักเก็บน้ำได้รวมทั้งสิ้น 63.744 ล้านลูกบาศก์เมตร  พื้นที่รับประโยชน์รวมทั้งหมด 303,825 ไร่

โครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง ที่แก้ไขปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยในลุ่มน้ำน่านในอนาคต ตั้งแต่ปี 2558 ถึง 2566 มีโครงการทั้งหมด 13 โครงการ  มีพื้นที่รับประโยชน์ที่เพิ่มมากขึ้น 120,750 ไร่ และปริมาณน้ำกักเก็บที่เพิ่มขึ้น  459.30 ล้านลูกบาศก์เมตร   เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ จะเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการบรรเทาอุทกภัย และเป็นแหล่งกักเก็บน้ำ

ทั้งนี้การบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน  เป็นฯการบูรณาการร่วมกับเกษตรกรผู้ใช้น้ำ องค์กรส่วนปกครองส่วนท้องถิ่น และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง  ปลูกจิตสำนึกให้กับเยาวชนตระหนักรู้ถึงความสำคัญของระบบชลประทาน สามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้