เสร็จสิ้นไปแล้วสำหรับงานเดิน-วิ่ง จุฬาฯ อาลัมพางค์ มินิ(ฮาร์ท) มาราธอน เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา ที่ทางสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลำปาง ได้จัดขึ้น ร่วมกับจังหวัดลำปาง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานลำปาง และสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ชื่นชมความงามอาคารและสถาปัตยกรรมเก่าแก่อันทรงคุณค่าของลำปาง และร่วมกันสร้างความตระหนักในการอนุรักษ์โบราณสถาน และบ้านโบราณ

หลังจากงานเดิน-วิ่ง จุฬาฯ อาลัมพางค์ มินิ(ฮาร์ท) มาราธอน ผ่านพ้นไปแล้ว สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลำปาง ก็ได้ออกเยี่ยมชมโบราณสถาน และบ้านโบราณในจังหวัดลำปาง เพื่อตามรอยในหนังสือจุฬา อาลัมพางค์ ที่ได้จัดทำขึ้นเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 2 เมษายน 2558 ในโอกาสครบรอบ 100 ปี แห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 26 มีนาคม 2560 และในโอกาสครบรอบ 30 ปี สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลำปาง

ความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้ มี 4 ภาษา มีภาษาไทย ภาษาจีน ภาษาอังกฤษ และภาษาล้านนา ภายในหนังสือมีประวัติเมืองลำปางที่เต็มไปด้วยวัดวาอารามที่สวยงาม รวมทั้งสถานที่สำคัญในจังหวัดลำปาง เป็นหนังสือที่ให้องค์ความรู้เกี่ยวกับจังหวัดลำปางในแง่มุมต่าง ๆ ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ชาวลำปาง และอนุชนรุ่นหลัง

ในการออกเยี่ยมชมโบราณสถาน และบ้านโบราณ ตามรอยหนังสือ จุฬา อาลัมพางค์ ในครั้งนี้ ท่านอาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ อดีตคณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บุคคลดีเด่นของชาติ สาขาเผยแพร่เกียรภูมิของไทย ปี 2557 และเป็นแบรนด์ แอมบาสเดอร์ กิจกรรมเดินวิ่งจุฬาฯ อาลัมพางค์มินิฮาร์ทมาราธอน ได้เป็นผู้นำคณะเที่ยวชมและให้ความรู้ โดยจุดแรกที่เข้าเยี่ยมชม คือที่วัดพระแก้วดอนเต้า สุชาดาราม พระอารามหลวง วัดที่มีตำนานเรื่องราวความเป็นมาที่น่าสนใจ และมีความงดงามของศิลปะในสมัยอดีต

หลังจากนั้นได้เดินทางต่อไปยังถนนคนเดินกาดกองต้า  เพื่อสัมผัสวิถีอาหารพื้นเมือง โดยจำลองกาดหมั้วคนเมือง ที่มีขนมจีนน้ำเงี้ยว ข้าวกั้นจิ้น ตำขนุน ลาบหมู ไส้อั่ว แกงฮังเล น้ำพริกหนุ่ม ผักลวก ข้าวซอย ข้าวเหนียวและข้าวสวย ขนมครก ข้าวต้มมัด น้ำสมุนไพรกระเจี๊ยบ อัญชัญ

ชมบ้านไม้เรือนโบราณ  ที่มีอยู่ทั้งสองฝั่งข้างทางของถนนคนเดิน  โดยมีอาจารย์วิถี พานิชพันธ์  มาเป็นผู้ร่วมให้ข้อมูลและเล่าเรื่องราวในอดีตเกี่ยวกับบ้านโบราณ  พร้อมทั้งเปิดบ้านให้คณะเข้าเยี่ยมชม

บ้านเรือนโบราณที่ยังคงมีอยู่ปัจจุบัน  ไม่เพียงแต่จะชื่นชมความงามเท่านั้น  หากยังเป็นแหล่งศึกษาสถาปัตยกรรม เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์  บอกเล่าเรื่องราวและสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตคนลำปางในอดีตได้เป็นอย่างดี  การอนุรักษ์บ้านเรือนโบราณ  จึงเป็นสิ่งสำคัญ  ที่ชาวลำปางจะต้องร่วมกันสืบทอดรักษาไว้ให้อยู่คู่เมืองลำปาง