ททท.สำนักงานลำปาง ขอเชิญชวนนักท่องเที่ยว “เยือนนครหัตถศิลป์ถิ่นลำปางพลัสลำพูน” ชมและเลือกซื้อสินค้าหัตถกรรมที่งดงามและมีคุณค่า  ทั้งจังหวังลำปางและจังหวัดลำพูน  พร้อมๆไปกับท่องเที่ยวและเรียนรู้วิถีชีวิตของคนในชุมชนกับงานหัตถศิลป์…

จังหวัดลำปาง เป็นจังหวัดมหัศจรรย์จังหวัดหนึ่งของภาคเหนือ ทั้ง ๆ ที่ในตัวเมืองไม่ได้ใหญ่โตมากมาย แต่เป็นที่ที่มีเรื่องราวเยอะเหลือเกิน โดนเด่นไปด้วยผลิตภัณฑ์เซรามิค  โดยเฉพาะชามตราไก่อันเลื่องลือที่วาดลงชามในรูปแบบที่หลากหลาย  และสิ่งหนึ่งที่มีหนึ่งเดียวในประเทศ แต่มีที่จังหวัดลำปาง คือ นั่งรถม้าชมเมืองเก่านครลำปางตามเส้นทางต่างๆ  ไปพร้อมๆกับการสัมผัสวิถีชีวิตชุมชน…

จังหวัดลำพูน   เสน่ห์เมืองเล็ก เล็ก… ที่อัดแน่นด้วยวิถีวัฒนธรรมที่หลากหลาย  มีงานทอผ้าที่ละเอียดและประณีตที่มีชื่อเสียงโด่งดัง  ไม่ว่าจะเป็น ผ้าทอยกดอก ผ้าทอโหล่งลี้ ผ้าทอบ้านหนองเหงือก ผ้าทอบ้านดอนหลวง ผ้าทอกระเหรี่ยง นอกจากนี้จังหวัดลำพูนยังมีสถาบันผ้าทอหริภุญชัย  และหอศิลป์สล่าเลาเลือง ที่เป็นแหล่งรวบรวมภูมิปัญญาและฝึกอบรมสืบทอดภูมิปัญญา  นอกจากเรื่องราวของผ้าทอแล้ว  จังหวัดลำพูนยังมีงานหัตถกรรมเครื่องเงินที่งดงามเป็น  เครื่องเงินชุมชนพระบาทห้วยต้ม อ.ลี้ และที่พลาดไม่ได้เลยเมื่อมาถึงที่นี่จะต้องนั่งรถรางและรถสามล้อ ชมวัดวาอารามและกำแพงเมืองเก่าที่สวยงาม…

 

ลำปาง….

เซรามิก ลำปาง

            ถ้าหากพูดถึงเครื่องปั้นเซรามิกในประเทศไทย หลายคนจะนึกถึงเซรามิกจังหวัดลำปาง ด้วยภูมิประเทศส่วนใหญ่ของจังหวัดลำปางเป็นภูเขาสลับซับซ้อน และมีลักษณะดินเป็นดินขาวที่มีคุณภาพซึ่งเหมาะแก่การทำเครื่องปั้นเซรามิก เมื่อกล่าวถึงประวัติความเป็นมาของอุตสาหกรรมเซรามิกลำปาง เริ่มมาจากนายซิมหยูชาวจีนเมืองไท้ปูเป็นเมืองที่มีชื่อเสียงทางด้านการผลิตถ้วยชามและได้เห็นชาวบ้านในอำเภอแจ้ห่มใช้แร่ดินขาวทำเป็นหินลับมีด  นายซิมหยูจึงชวนนายเซี่ยะหยุย แซ่อื้อ และนายซิวกิม แซ่กว๊อก ค้นหาแหล่งดินขาวเพื่อเอามาทดลองทำถ้วยชาม จนในช่วงปี พ.ศ. 2498-2499 ได้มีการพบแหล่งดินขาวที่บ้านปางค่า อำเภอแจ้ห่ม จึงได้มีการเริ่มทดลองผลิตเครื่องปั้นเซรามิก หลังจากนั้นปี พ.ศ.2500 ได้มีการจัดตั้งโรงงานเซรามิกแห่งแรกของจังหวัดลำปาง มีชื่อว่า โรงงานร่วมสามัคคี หมู่บ้านป่าขาม อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเซรามิกลำปางได้มีการพัฒนามาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน เมื่อพูดถึงเซรามิกลำปาง ต้องทำให้นึกถึงชามตราไก่ลำปาง แต่เดิมนั้นในยุคสมัยหนึ่งของจังหวัดลำปางได้ชื่อว่าเมือง กุกกุฏนคร ซึ่งแปลว่า “ไก่ขาว” การผลิตเซรามิกในยุคแรกๆ จึงนิยมวาดลวดลายไก่ลงไปในผลิตภัณฑ์จนกลายเป็นสัญลักษณ์ชามตราไก่ของจังหวัดลำปางจนถึงปัจจุบัน

 

พิพิธภัณฑ์เซรามิคธนบดี จากประวัติความเป็นมาของเซรามิกจังหวัดลำปาง ทายาทของนายซิมหยู คือนายพนาสิน ธนบดี ได้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ขึ้นมาเพื่อรักษาเกียติประวัติของนายซิมหยู ภายในได้รวบรวมเรื่องราวและตำนาน “ชามไก่แห่งธนบดี”เล่าเรื่องราวประวัติของบริษัทในเครือธนบดี ต้นกำเนิดชามตราไก่เซรามิกของเมืองลำปางและประวัติความเป็นมาของเซรามิกลำปาง พร้อมกับการสาธิตการผลิตชามตราไก่แบบโบราณและการวาดลวดลายแบบดั้งเดิม ยังมีโบราณสถานที่ทรงคุณค่านั่นคือ เตามังกรโบราณ ซึ่งเป็นฝืนโบราณ ที่ใช้ในการผลิตเซรามิกในสมัยก่อน ภายในยังมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชามตรา และผลิตภัณฑ์เซรามิกอีกหลากหลายประเภท

 

อินทราเอาท์เลท ศูนย์จำหน่ายเซรามิกใหญี่ที่สุดของจังหวัดลำปาง โดยจุดเด่นของเซรามิกจะมีมีสีสันสดใสและลวดลายที่ทันสมัย โดยศูนย์ใหญ่จะมีบริเวณสำหรับถ่ายรูปไม่ว่าจะเป็นชามตราไก่ยักษ์ หลักกิโลเมตรยักษ์ อนุสาวรีย์ไก่ยักษ์ อีกทั้งยังมีมุมกาแฟไว้ให้บริการ

 

สปาเซรามิก บ้านศาลาบัวบก อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง

            บ้านศาลาบัวบก หมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ที่นี่มีความพิเศษโดยการนำเซรามิกมาปรับประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดมูลค่ามากยิ่งขึ้น โดยการนำเซรามิกปั้นเป็นเม็ดขนาดเล็กเท่ากับขนาดลูกชิ้น แล้วนำมาใส่ในอ่างดิน เติมน้ำสมุนไพรหลากหลายชนิดลงไปจนกลายเป็น “สปาเท้าด้วยเซรามิก” และหากใครที่ชื่นชอบการนวดแผนไทย ที่นี่มีบริการนวดคลายเส้นด้วยลูกประคบจากเซรามิก โดยการนำเซรามิกมาทำเป็นลูกประคบสมุนไพร ทำให้เกิดความร้อยแล้วนำมานวด อีกทั้งที่นี่ยังมีการทำผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติ ถือได้ว่ามาแห่งเดียวได้ผ่อนคลายพร้อมกับมีของที่ระลึกติดไม้ติดมือกลับไปด้วย

 

แกะสลักบ้านหลุก อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง

            บ้านหลุก ตั้งอยู่ที่หมู่ 12 ตำบลนาครัว อำเภอแม่ทะ เป็นหมู่บ้านหัตถกรรมที่มีชื่อเสียงในด้านการแกะสลักไม้ของจังหวัดลำปาง ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพหลักในการแกะสลักและจะแกะสลักไม้ในบ้านของตัวเอง มีการแกะสลักไม้ตั้งแต่อดีตสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน เป็นการสืบสานวิธีการใช้มีดและสิ่วแกะสลักรวมถึงความเชื่อ แนวความคิดที่ถ่ายทอดออกมาเป็นลวดลายต่าง ๆ ลงบนแผ่นไม้ด้วยฝีมืออันประณีต มีรูปแบบที่ทันสมัย แต่ก่อนเป็นการทำโดยใช้เวลาว่างจากการทำนา แต่ปัจจุบันได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวมากขึ้น จึงได้ผลิตออกจำหน่ายเป็นอุตสาหกรรมภายในหมู่บ้าน  จุดเด่นของการแกะสลักบ้านหลุกคือชาวบ้านจะแกะสลักอย่างประณีตจนเกิดเป็นรูปร่างต่างๆ เช่น การแกะสลักรูปสัตว์ต่างๆ ตั้งแต่ตัวเล็กจนถึงขนาดเท่าตัวจริง หรือจะเป็นเครื่องใช้ในครัวเรือน เป็นต้น

 

มาลำปางทั้งที ต้องนั่งรถม้าชมเมือง…

ลัลล้าบนหลังม้า…ฮี้ฮี้..ก็อบก็อบ…ชมเมืองนครลำปาง  ลำปางมีมรดกจากอดีตที่ยังเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ที่คอยดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยว และยังแสดงถึงความมีเอกลักษณ์ของท้องถิ่น นั่นก็คือ “รถม้า”  ที่ยังคงวิ่งอยู่บนถนนและมีแห่งเดียวในประเทศ   นักท่องเที่ยวสามารถเลือกเส้นทางชมเมืองได้ตามความต้องการ ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางข้ามแม่น้ำวังบนสะพานรัษฎาภิเศก ชมบ้านเสานัก ชมวัดพระแก้วดอนเต้า และวัดต่างๆ และนมัสการหลวงพ่อเกษม เขมโก หรือจะเป็นเส้นทางชมย่านตลาดจีนบนถนนตลาดเก่า ซึ่งเป็นถนนเศรษฐกิจในอดีตที่ยังคงสภาพอาคารตึกแถวแบบโบราณไว้ทั้งสองฟาก บ้านเก่าหลายหลังมีลวดลายไม้ฉลุที่งดงาม ชมสถานีรถไฟที่เป็นอาคารแบบโบราณ แวะถ่ายภาพที่ห้าแยกหอนาฬิกาและอาจจะแวะซื้อผลิตภัณฑ์เซรามิคบริเวณหน้า โรงเรียนเทศบาล 4 ที่อยู่ใกล้ๆกับหอนาฬิกา ซึ่งมีให้เลือกหลายร้าน สำหรับช่วงเวลาที่คลาสสิคสุดๆในการนั่งรถม้าชมเมืองลำปาง คือช่วงใกล้ๆตะวันจะตกดิน เพราะได้ชมบรรยากาศความสว่างที่จางลงไปกับความเงียบมืดมิด ผ่านแสงไฟสลัวๆยามค่ำคืน เพลิดเพลินไปกับบรรยากาศวิถีชีวิตของคนเมืองเหนือที่ปราศจากความเร่งรีบ ที่หาไม่ได้ในเมืองกรุง

 

การทำเกือกม้า

ธรรมชาติของม้านั้นจะชอบวิ่งบนพื้นหญ้าหรือพื้นดิน แต่เมื่อคนใช้ม้าวิ่งบนถนนเช่นเดียวกับที่จังหวัดลำปาง  ที่ยังคงมีรถม้าวิ่งบนถนนให้บริการแก่นักท่องเที่ยว  ถนนที่แข็งทำให้กีบเท้าม้าได้รับบาดเจ็บ จึงได้มีการทำเกือกม้าที่เป็นเหล็กตอกติดกับเท้าม้า แน่นอนว่าที่จังหวัดลำปางก็ยังคงมีการทำเกือกม้าอยู่ในปัจจุบัน  โดย ว่าที่ ร.อ.สุพจน์ ใจรวมกูล ผู้ที่ขี่ม้าตั้งแต่อายุ 5 ขวบ โตมาพร้อมกับภูมิปัญญาด้านม้า และปัจจุบันยังเป็นช่างตีเกือกม้าที่หลงเหลืออยู่เป็นคนสุดท้ายของจังหวัดลำปาง  หากนักท่องเที่ยวได้มานั่งรถม้าที่จังหวัดลำปาง คงพลาดไม่ได้แน่ๆ ที่จะต้องมาเยี่ยมชมวิธีการทำเกือกม้าเพราะหาดูได้ยากมากในปัจจุบัน  และเมื่อมาถึงที่นี่แล้ว อย่าลืมที่จะซื้อเกือกม้ากลับไปเป็นของที่ระลึก  ด้วยเพราะมีความเชื่อว่าเป็นเครื่องรางนำโชค ป้องกันสิ่งชั่วร้าย  โดยจะนำเกือกม้ามาติดไว้ที่ประตู

 

อีกหนึ่งรูปแบบของการเดินทางท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวชื่นชอบ  คือ การนั่งรถรางชมเมือง และเดินทางไปตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ในชุมชน  ที่ลำปางมีบริการรถรางที่ชุมชนท่ามะโอ  มีการบริหารจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน  มีการให้บริการรถรางแก่ท่องเที่ยวเที่ยวชมในชุมชนท่ามะโอ  และเชื่อมโยงการนำเที่ยวไปยังชุมชนใกล้เคียง  ได้แก่  วัดปงสนุก  สะพานรัษฎาภิเศก  วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม  สำนักปฏิบัติธรรมหลวงพ่อเกษมเขมโก  วัดพระเจดีย์ซาวหลัง  เป็นต้น

 

ลำพูน…

ผ้าไหมยกดอกจังหวัดลำพูน

            การทอผ้ายกดอกของจังหวัดลำพูน จากคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ กล่าวว่า การทอผ้ายอกดอกมีจุดเริ่มต้นอยู่ใน “คุ้มเจ้า” ซึ่งในอดีตมีการทอผ้าฝ้ายยกดอกอยู่แล้วแต่เป็นการทอยกดอกในผ้าฝ้ายและมีลวดลายธรรมดาไม่วิจิตรงดงามนัก จนกระทั่งพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ซึ่งเป็นพระญาติกับเจ้าเมืองลำพูน ได้ถ่ายทอดความรู้เรื่องการทอผ้าไหมยกดอก ที่มีลวดลายสวยงามแปลกตาและวิจิตรบรรจง ซึ่งพระองค์ได้เรียนรู้การทอมาจากภาคกลางแบะถ่ายทอดให้กับเจ้าหญิงส่วนบุญ ชายาของเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าผู้ครองลำพูนองค์สุดท้ายและเจ้าหญิงลำเจียก ธิดาในเจ้าจักรคำ ขจรศักดิ์ เป็นผู้เริ่มทำ และต่อมาการทอผ้าไหมยกดอกจึงได้เริ่มแพร่หลายออกไปสู่สาธารชนทั่วไป จากนั้นได้มีการฝึกให้ชาวบ้านบริเวณใกล้เคียงให้มีความรู้ในเรื่องของผ้าไหมยกดอกจนมีความชำนาญ จึงทำให้เมืองลำพูนกลายเป็นศูนย์กลางการทอผ้าไหมยกดอกแหล่งสำคัญของประเทศไทย

            เอกลักษณ์ของผ้าไหมยกดอกลำพูนอยู่ที่ลวดลายบนผืนผ้า ด้วยมีรูปแบบลวดลาย มีความซับซ้อน งดงาม ประณีต โดยเฉพาะเทคนิคในการทอ ลวดลายยกนูนบนผืนผ้าที่สามารถสัมผัสหรือมองเห็นได้อย่างชัดเจน ด้วยเทคนิคการทอที่เรียกว่าการยก คือการยกบางเส้น และข่มบางเส้นจนเกิดเป็นลายนูนขึ้น หรือจะใช้ดิ้นเงิน ดิ้นทองพุ่งเพิ่มเข้าไปในการทอ ก่อให้เกิดลวดลายนูนเด่น สีสันงดงาม ถือเป็นเอกลักษณ์ความสง่างามจนหาผ้าที่ไหนมาเทียบได้ และการสืบทอดภูมิปัญญาและความงดงามที่เป็นเอกลักษณ์ ทำให้ผ้าทอยกดอกลำพูนนิยมนำมาสวมใส่ในงานพิธีสำคัญต่างๆ

 

ชุมชนบ้านดอนหลวง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน

หมู่บ้านหัตกรรมแหล่งผลิตผ้าฝ้ายทอมือขนาดใหญ่และเป็นที่รู้จักมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ เป็นชุมชนที่มีชาวยองอพยพมาตั้งรกรากและดำเนินชีวิตที่นี่ วิถีชีวิตของชาวยองในสมัยก่อนจะทำไร่ทำนา เลี้ยงวัวเลี้ยงควาย หญิงชาวยองเมื่อว่างจากงานจะทอผ้าฝ้ายที่ปลูกเอง นำมาผ่านกระบวนการปั่นฝ้าย และย้อมสีเส้นด้ายด้วยธรรมชาติ โดยส่วนมากจะทำเป็นเครื่องนุ่งห่มและข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน การทอผ้ามือจึงถือได้ว่าเป็นหัตถกรรมพื้นบ้านที่สืบทอดกันมาและเป็นกิจกรรมที่ผูกพันกับวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวบ้านดอนหลวงมาเป็นเวลานานนับร้อยๆ ปี เมื่อความเจริญเริ่มแผ่ขยายเข้ามาในอำเภอเมืองป่าซาง การทอผ้าบ้านดอนหลวงจึงไม่ได้จำกัดอยู่แต่เพียงการทอเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันอีกต่อไป แต่กลายไปเป็นอาชีพเพื่อเลี้ยงครอบครัว เมื่อเวลาผ่านไปการสั่งสมความรู้ประสบการณ์ จึงเกิดการพัฒนามีการปรับเปลี่ยนและเพิ่มเติมสีสันลวดลาย จนในปัจจุบันบ้านดอนหลวงกลายเป็นศูนย์รวมผ้าฝ้ายทอมือที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดแห่งหนึ่ง ถือเป็นภูมิปัญญาล้ำค่าที่มีการส่งทอดรุ่นสู่รุ่น

 

ชุมชนบ้านหนองเงือก อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน

ถัดจากชุมชนบ้านดอนหลวง ไม่ไกลกันนักยังมีชุมชนอีกชุมชนมีมีชาวยองอพยพมาตั้งรกรากอยู่อาศัยเช่นเดียวกัน งานหัตถกรรมผ้าทอของบ้านหนองเงือกมีลักษณะคล้ายกับชุมชนบ้านดอนหลวง คือทอผ้าเพื่อมาใช้ในชีวติประจำวัน เครื่องใช้ที่ทอ ก็คือ ตุง หรือ ธงโดยตุงสามารถสะท้อนถึงภูมิปัญญา วัฒนธรรม คติความเชื่อทางล้านนา และพุทธศาสนา และลวดลายของผ้าฝ้ายทอมือในช่วงแรกนี้จะเป็นลวดลายแบบโบราณ เช่น ลายขัดกันพื้นฐานสองตะกอ ลายเกล็ดเต่าแบบโบราณ ลายดี และลายดอกแก้ว จากนั้นเมื่อเวลาผ่านไปเริ่มมีการพัฒนาลวดลาย และการทอที่หลากหลาย จนปัจจุบันบ้านหนองเงือกได้รับคัดเลือกเป็นแกนนำหลักของเครือข่ายกลุ่มผ้าทอของจังหวัดลำพูนร่วมกับบ้านดอนหลวง ฝ้ายทอมือของหมู่บ้านหนองเหงือกยังคงเอกลักษณ์ดั้งเดิม ชาวหนองเงือกได้สืบสานการทอผ้าฝ้ายและกรรมวิธีจากบรรพบุรุษ และมากกว่านั้นชาวหนองเงือกมีความคิดสร้างสรรค์ในการนำลวดลายดั้งเดิมมาประยุกต์ให้ทันยุคทันสมัยโดยการเพิ่มความสลับซับซ้อนและเล่นสีสันในลวดลาย ผ้าฝ้ายทอมือบ้านหนองเงือกจึงมีหลากหลายและทันสมัยอยู่เสมอ

 

ชุมชนพระบาทห้วยต้ม อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน

ชุมชนพระบาทห้วยต้ม ชุมชนชาวกะเหรี่ยงปะกาเกอะญอในอดีตได้เดินทางอพยพติตามท่านหลวงครูบาวงศ์ (รูบาชัยยะวงศาพัฒนา) และตั้งถิ่นฐานอยู่จนถึงปัจจุบัน ชุมชนพระบาทห้วยต้มเป็นชุมชนที่เป็นชุมชนสายบุญ กินมังสวิรัติเป็นอาหาร นอกจากจะเป็นชุมชนสายบุญแล้ว ชุมชนพระบาทห้วยต้มยังขึ้นชื่อเรื่องการทอผ้าก็เป็นเอกลักษณ์ด้วยเช่นกันเป็นการทอผ้าโบราณแบบกี่เอว การใช้วัสดุจากธรรมชาติในท้องถิ่นนำมาย้อมสี และลวดลายเป็นลวดลายแบบโบราณที่สืบทอดมานาน ปัจจุบันเครื่องเงินและผ้าทอมีจำหน่ายที่ศูนย์งานหัตถกรรมบ้านห้วยต้ม

 

ชุมชนห้วยต้ม นอกจากจะมีการทอผ้าที่เป็นเอกลักษณ์แล้ว  ชุมชนห้วยต้มแห่งนี้ยังมีเครื่องเงินที่สวยงามและหลากหลาย ซึ่งใช้วัตถุดิบจากเงินแท้และมีลวดลายที่อ่อนช้อยงดงามดัดแปลงจากธรรมชาติ  ไว้ใช้สอยกันเองภายในชุมชน จนถือเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิต โดยเครื่องเงินได้ถูกนำมาใช้ในพิธีการสำคัญต่างๆ อาทิ การใช้ในพิธีสู่ขอสาวเพื่อแต่งงาน ใช้ในงานบุญที่มีการสร้างเจดีย์ โดยมักนำเครื่องเงินที่มีค่าบรรจุลงไว้ในเจดีย์ด้วยเพื่อเสริมมงคลให้กับชีวิต หรือการสวมกำไลเงินในพิธีเรียกขวัญ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังถือได้ว่าเครื่องเงินเป็นสิ่งสูงค่าอันสามารถบ่งบอกฐานะทางครอบครัวและสังคมของผู้ที่เป็นเจ้าของได้อีกด้วย ต่อมาเมื่อมีจำนวนช่างประจำท้องถิ่นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็ทำให้ผลผลิตที่ได้มีมากเพียงพอต่อการนำออกจำหน่ายสู่ภายนอก

 

สถาบันผ้าทอมือหริภุญชัย ถือเป็นสถาบันส่งเสริมการเรียนรู้วิธีการทอผ้าด้วยมือและสืบทอดวัฒนธรรมการทอผ้าของจังหวัดลำพูน เพื่อพัฒนาตลาดผ้าทอ สร้างอาชีพที่มั่นคง และมีคุณค่าของจังหวัดลำพูน ถือเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านวัฒนธรรมการทอผ้าของคนลำพูน เป็นสถานที่จัดแสดงความเป็นมาของผ้าทอที่เชื่อว่านักท่องเที่ยวที่เข้าไปสัมผัสจะเข้าใจลึกซึ้งถึงคุณค่าแห่งภูมิปัญญาไทยอย่างแท้จริง

สำหรับผู้ที่สนใจผ้าทอผืนสวยและผลงานสร้างสรรค์ของคนลำพูน สถาบันผ้าทอมือหริภุญชัย ได้จัดโซนร้านค้าที่มีผลิตภัณฑ์หลากหลายจากฝีมือคนลำพูนไว้ให้เลือกชม เลือกซื้อ

 

หอศิลป์สล่าเลาเลือง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน

            หอศิลป์ที่เป็นแหล่งรวบรวมภูมิปัญญาและฝึกอบรมสืบทอดภูมิปัญญาของจังหวัดลำพูน คำว่า “สล่า” คือช่างล้านนาที่มีฝีมือสาขาต่างๆ ของจังหวัดลำพูน คำว่า “เลา” แปลว่า งาม และคำว่า “เลือง” เป็นภาษาคำเมืองว่า เลิง หมายถึงพอดี พอเหมาะมีมาตราฐาน ภายในจัดแสดงออกเป็น 2 คือ ห้องเค้าพญา จะจัดแสดงข้อมูลประวัติของเจ้าผู้ครองนครในจังหวัดลำพูน และผู้ที่เป็นต้นแบบของงานศิลปะ งานวรรณกรรม ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม งานวิชาการทางพระพุทธศาสนา และงานเอกลักษณ์ของลำพูน และอีกห้องหนึ่งมีชื่อว่าห้องสล่าเลาเลือง จะจัดแสดงข้อมูลประวัติของสล่าหรือว่าช่างล้านนาลำพูน  นอกจากกอศิลป์สล่าเลาเลืองจะเป็นแหล่งรวบรวมผลงานศิลปะในแขนงต่างๆ แล้ว ยังใช้เป็นแหล่งอบรมแล้วสามารถนำไปสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้แก่เยาวชนได้ อีกทั้งยังเป็นการสานต่อเจตนารมณ์ของ จรัล มโนเพ็ชร ศิลปินล้านนาที่ต้องการสร้างหอศิลป์ในเมืองลำพูน

หอศิลป์สล่าเลาเลือง ตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยสงฆ์ลำพูน ตำบลต้นธง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน หลังสถาบันผ้าทอมือหริภุญชัย เปิดให้บริการทุกวัน เวลา 08.40 – 16.30 น. ติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่ 087-7144448

 

รถรางลำพูน และรถสามล้อ

            นั่งรถรางและรถสามล้อชมเมืองลำพูน พร้อมทั้งไหว้พระ ทำบุญ ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านเมืองของจังหวัดลำพูนทั้ง 11 แห่ง จุดเริ่มต้นอยู่ที่หน้าวัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร, พิพิธภัณฑ์ชุมชนเมืองลำพูน, คุ้มเจ้ายอดเรือน, อนุสาวรีย์พระนางจามเทวี, วัดจามเทวี, วัดมหาวัน, วัดพระคงฤาษี, วัดสันป่ายางหลวง, โบราณสถานกู่ช้างกู่ม้า, วัดพระยืน และสิ้นสุดที่วัดต้นแก้ว

รถรางลำพูนจะมีจุดจอดอยู่ที่บริเวณลานหน้าวัดพระธาตุหริภุญชัยฯ มีทั้งหมด 2 รอบคือเวลา 09.30 น. และเวลา 13.30 น. หยุดให้บริการทุกวันจันทร์ ค่าบริการ เด็ก 20 บาท ผู้ใหญ่ 50 บาท

ติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่ : งานพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยว เทศบาลเมืองลำพูน โทร. 053-511013 ต่อ 110