เส้นทางที่ 1 106 อ้อมกอดแห่งขุนเขา (เถิน-ลี้-ลำพูน) มีสถานที่ท่องเที่ยว 18 แห่ง

1.วัดเวียง อ.เถิน จ.ลำปาง
2.ชุมชนผาปัง อ.แม่พริก จ.ลำปาง
3.อุทยานแห่งชาติแม่วะ อ.เถิน จ.ลำปาง
4.ดอยผาแดงแดนสองตะวัน อ.เถิน จ.ลำปาง
5.ครูบาเจ้าศรีวิชัย วัดบ้านปาง อ.ลี้ จ.ลำพูน
6.วัดพระพุทธบาทผาหนาม(ครูบาอภิชัยขาวปี) อ.ลี้ จ.ลำพูน
7.วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม(ครูบาชัยวงศาพัฒนา) อ.ลี้ จ.ลำพูน
8.พระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย อ.ลี้ จ.ลำพูน
9.ชุมชนน้ำปากาเกอะญอ อ.ลี้ จ.ลำพูน
10.อุทยานแห่งชาติแม่ปิง อ.ลี้ จ.ลำพูน
11.ทุ่งกิ๊ก อ.ลี้ จ.ลำพูน 12.น้ำตกก้อหลวง อ.ลี้ จ.ลำพูน
13.โรงเรียนบ้านก้อจัดสรร สาขาเรือแพ(คิดถึงวิทยา) อ.ลี้ จ.ลำพูน
14.ปากา คอฟฟี่ อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน
15.บ้านดอนหลวง อ.ป่าซาง จ.ลำพูน
16.บ้านหนองเงือก อ.ป่าซาง จ.ลำพูน
17.วัดพระพุทธบาทตากผ้า อ.ป่าซาง จ.ลำพูน
18.วัดพระธาตุหริภุญชัย อ.เมือง จ.ลำพูน

 

“วัดเวียง” สถานที่ศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองเถิน อายุกว่า 1,300 ปี ตั้งอยู่ที่บ้านเวียง ต.ล้อมแรด อ.เถิน จ.ลำปาง มีรูปแบบศิลปะคล้ายกับวัดพระธาตุลำปางหลวง แต่จะมีขนาดเล็กกว่า โดยมีพระธาตุเจดีย์เป็นศูนย์กลางของวัด มีพระวิหารตั้งอยู่ทางด้านตะวันออกของพระธาตุหรือด้านหน้าของวัด โอบล้อมด้วยศาลาบาตรซึ่งเป็นแนวระเบียงกั้นเป็นเขตแดน ทางเข้าด้านหน้าทำเป็นซุ้มประตูโขงประดับปูนปั้นอย่างสวยงาม นับเป็นรูปแบบของวัดโบราณที่พบมากในเขตจังหวัดลำปาง ภายในวัดมีสถาปัตยกรรมของวิหาร และภาพเขียนลายทองที่ต้องมาชม

 

ชุมชน “ผาปัง” ชุมชนเล็กๆ ลับตา ที่พลิกผันผลักดันตัวเองให้ปลดแอกด้านพลังงาน ไม่รอการช่วยเหลือจากรัฐ ไม่ง้อการไฟฟ้าจะลากสายมาถึงหรือไม่ ไม่ง้อก๊าซหุงต้ม (LPG) จากร้านรวงที่ไหน จนกลายเป็นที่มาของ “ผาปังโมเดล” พื้นที่ศึกษาดูงานของชุมชนต่างๆไปจนถึงผู้กำหนดนโยบายเพื่อนำไปขยายผลในพื้นที่อื่น ที่นี่มีสิ่งเดียวที่ต้องง้อ คือ “ไผ่” โดยเฉพาะไผ่ซางหม่น” พืชประจำถิ่น เพราะให้ทั้งพลังงาน และเพิ่มเงินเข้ากระเป๋าชุมชน นอกจากนี้ ณ ที่แห่งนี้ยังมีที่พักหลักร้อยในวิวหลักล้านให้ได้มาสัมผัสกันเลยทีเดียว

 

“อุทยานแห่งชาติแม่วะ” อยู่ในพื้นที่ครอบคลุม อ.เถิน อ.แม่พริก จ.ลำปาง และ อ.สามเงา อ.บ้านตาก จ.ตาก บนพื้นที่ 366,875 ไร่ บรรยากาศโอบล้อมด้วยภูเขาสูงสลับซับซ้อนมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ดอยผาจี่ ดอยผาขัดห้าง ดอยปูโมะ และดอยแปรหลวง ต้นกำเนิดของต้นน้ำที่ไหลไปเป็นน้ำตกแม่วะ สถานที่ท่องเที่ยวโดดเด่นของอุทยานฯที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาด คือน้ำตกแม่วะ เป็นน้ำตกสูงที่ไหลผ่านชั้นต่างๆ ถึง 9 ชั้น แต่ละชั้นมีความงามแตกต่างกัน นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่นิยมเดินขึ้นไปชมน้ำตกเพียง 4 ชั้นเท่านั้น เพราะเส้นทางหลังจากน้ำตกชั้นที่ 4 จะเป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่ไม่สะดวกมากนัก แต่ความงดงามของน้ำตกชั้นที่ 8 และชั้นที่ 9 นับว่ามีความสวยงามที่สุดของน้ำตกแม่วะแห่งนี้

 

“ดอยผาแดงแดนสองตะวัน” อ.เถิน จ.ลำปาง จุดชมวิวมุมสูงไฮไลท์ของอุทยานแห่งชาติแม่วะ สถานที่ท่องเที่ยวแห่งนี้น่าจะถูกใจหลายๆ คน โดยเฉพาะนักผจญภัย เพราะนอกจากจะได้สัมผัสความสวยงามธรรมชาติแบบเต็ม ๆ แล้ว ที่นี่ยังอุดมไปด้วยความสมบูรณ์ทางธรรมชาติอีกมากมาย เนื่องจากที่ตั้งดอยผาแดงเป็นสันเขาสูง จึงทำให้นักท่องเที่ยวมองเห็นมุมสูงของหมู่บ้านแม่วะ และมองเห็นทะเลหมอกยามเช้า และที่น่าหลงไหลอีกอย่างคือ สามารถมองเห็นความงามของพระอาทิตย์ได้ทั้งยามพระอาทิตย์ขึ้น และยามพระอาทิตย์ตกดิน จึงเป็นที่มาของชื่อ “ดอยผาแดงแดนสองตะวัน”

 

“วัดบ้านปาง” อ.ลี้ จ.ลำพูน วัดแห่งนี้เป็นบ้านเกิดของครูบาเจ้าศรีวิชัย เป็นวัดที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยบวชเรียนเป็นวัดแรก และยังเป็นสถานที่มรณภาพ ในบริเวณวัดมีความร่มรื่น เมื่ออยู่ด้านบนจะมองเห็นวิวทิวทัศน์สวยงาม เนื่องจากวัดตั้งอยู่บนเนินเขา มีโบราณสถานเก่าแก่ คือพระวิหารหลวง ที่สร้างขึ้นตามรูปแบบของสถาปัตยกรรมล้านนา ลักษณะอ่อนช้อยสวยงามมากที่สุดแห่งหนึ่ง มีพิพิธภัณฑ์อัฐบริขารครูบาเจ้าศรีวิชัย ซึ่งเก็บของใช้ส่วนตัวของท่านไว้อย่างครบถ้วน

 

“วัดพระพุทธบาทผาหนาม” ปูชนียสถานที่สำคัญอีกแห่งของ อ.ลี้ จ.ลำพูน ภายในวัดมีสองจุดให้ชมคือ ตัววัดที่ตั้งอยู่ด้านล่างจะมีรูปปั้นขนาดใหญ่ของครูบาอภิชัยขาวปีเป็นจุดเด่น ภายในวัด ณ หอปราสาทรักษาศพ ได้เก็บสรีระสังขารที่ไม่เน่าเปื่อยของครูบาอภิชัยบาวปีไว้ในโลงแก้ว และในทุกวันที่ ๓ เดือน มี.ค. ของทุกปี จะมีประเพณีเปลี่ยนผ้าครองสรีระครูบาอภิชัยขาวปี ซึ่งจะมีศิษยานุศิษย์หลั่งไหลมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก ส่วนอีกจุดคือองค์พระธาตุที่ตั้งอยู่บนยอดดอย ๒ องค์ (พระธาตุทอง พระธาตุขาว) หากใครที่เดินทางขึ้นไปบนพระธาตุช่วงเวลาประมาณ ๖ โมงเช้า จะเห็นทะเลหมอกและวิวทิวทัศน์ของ อ.ลี้ ได้แบบ ๓๖0 องศา

 

“วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม” (ครูบาชัยวงศาพัฒนา) อ.ลี้ จ.ลำพูนวัดประจำหมู่บ้านชุมชนพระบาทห้วยต้ม วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ตามตำนานเล่าว่า ในสมัยพุทธกาลสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จมาโปรดเวไนยสัตว์ ณ บริเวณที่แห่งนี้ และได้ประทับรอยพระพุทธบาทไว้บนแผ่นหิน เพื่อให้ชาวลั๊วะและนายพรานทั้งหลายได้สักการะบูชา กาลเวลาผ่านไปถูกปล่อยทิ้งร้าง จนเมื่อปี พ.ศ.2489 ครูบาชัยวงศา พระชื่อดังที่ชนเผ่ากระเหรี่ยงศรัทธา ได้ร่วมกันตกแต่งองค์พระธาตุอย่างงดงาม และพัฒนาวัดแห่งนี้ให้ใหญ่โต ซึ่งบริเวณที่ดินแถวนี้เต็มไปด้วยหินศิลาแลง จึงได้มีการนำหินเหล่านี้มาสร้างโบสถ์และเจดีย์ นอกจากนี้ภายในวัดยังมีโบราณสถานที่ทรงคุณค่า ไม่ว่าจะเป็นมณฑปพระเก้าตื้อ, บ่อน้ำทิพย์, เจดีย์ 84,000 พระธรรมขันธ์ และวิหารพระพุทธบาท ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเจิมหิน เพื่อบรรจุในองค์พระเจดีย์ด้วย
ภายในวิหารมีโลงแก้วบรรจุสรีระสังขารของครูบาชัยยะวงศาพัฒนา ที่ไม่เน่าเปื่อย ให้ผู้คนได้ระลึกถึงคุณงามความดีและกราบสักการะ และทุกวันพระคนในชุมชนพระบาทห้วยต้มจะหยุดทำงานเพื่อเข้าวัดทำบุญตักบาตร ฟังธรรม และถวายสังฆทานผัก ที่ทำสืบทอดต่อกันมา ถือเป็นวิถีดีงามหนึ่งเดียวในประเทศไทย

 

“พระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย” อ.ลี้ จ.ลำพูน สถาปัตยกรรมศิลปะล้านนา สร้างด้วยศิลาแลงทั้งองค์ ที่ขุดจากบ่อศิลาแลงด้านหลังของวัด นับว่าเป็นพระมหาธาตุเจดีย์ศิลาแลงที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีพื้นที่เท่ากับ ๑ ไร่ ส่วนสูงจากบัวยอดฉัตรลงมาถึงพื้นยาว ๖๔.๓๙ ม. สีทองเหลืองอร่ามโดดเด่นเห็นแต่ไกล เป็นเจดีย์ที่ชาวปกาเกอะญอให้ความเคารพศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง เพราะเมื่อก่อนชาวปกาเกอะญอที่อาศัยในชุมชนห้วยต้ม จะต้องเดินทางไปนมัสการเจดีย์ชเวดากองที่ประเทศพม่า แต่ด้วยว่าชาวปกาเกอะญอบางคนมีเงินน้อยไม่สามารถเดินทางไปพม่าได้ หลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา จึงจัดสร้างพระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัยนี้ขึ้น โดยจำลองเจดีย์ชเวดากองขึ้นเพื่อให้เป็นพุทธเจดีย์ของพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ ให้ชาวปกาเกอะญอและพุทธศาสนิกชนทั่วไปมากราบไหว้บูชา

 

“ชุมชนชาวปกาเกอะญออ” อ.ลี้ จ.ลำพูน เป็นชุมชนอยู่รวมกันเป็นชุมชนใหญ่ มีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ชุมชนแห่งนี้เปี่ยมล้นไปด้วยความศรัทธา เป็นหมู่บ้านที่ถือศีล ๕ กินมังสวิรัติ นับถือหลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา และยึดเอาหลักธรรมและประเพณีทางพระพุทธศาสนาในการดำเนินชีวิต โดยในหมู่บ้านจะมีกฎในการเข้าเยี่ยมชม คือ การห้ามทานเนื้อสัตว์ และไม่นำเนื้อสัตว์เข้ามาในหมู่บ้าน และในชุมชนจะขายอาหารที่เป็นมังสวิรัติเท่านั้น ในทุกวันจะมีการตักบาตรผัก ซึ่งมีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก เหมาะสำหรับใครที่รักความสงบ และสนใจในวิถีชีวิตที่สงบเงียบและเรียบง่าย

 

“ชุมชนชาวปกาเกอะญออ” อ.ลี้ จ.ลำพูน เป็นชุมชนอยู่รวมกันเป็นชุมชนใหญ่ มีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ชุมชนแห่งนี้เปี่ยมล้นไปด้วยความศรัทธา เป็นหมู่บ้านที่ถือศีล ๕ กินมังสวิรัติ นับถือหลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา และยึดเอาหลักธรรมและประเพณีทางพระพุทธศาสนาในการดำเนินชีวิต โดยในหมู่บ้านจะมีกฎในการเข้าเยี่ยมชม คือ การห้ามทานเนื้อสัตว์ และไม่นำเนื้อสัตว์เข้ามาในหมู่บ้าน และในชุมชนจะขายอาหารที่เป็นมังสวิรัติเท่านั้น ในทุกวันจะมีการตักบาตรผัก ซึ่งมีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก เหมาะสำหรับใครที่รักความสงบ และสนใจในวิถีชีวิตที่สงบเงียบและเรียบง่าย

 

“ทุ่งกิ๊ก อ.ลี้ จ.ลำพูน” อยู่ภายในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ปิง เป็นทุ่งหญ้าธรรมชาติกว้างใหญ่อยู่ท่ามกลางป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ จึงเป็นแหล่งอาศัยหากินของสัตว์ป่า เช่น กวาง เก้ง กระต่ายป่า ฯลฯ มี่จะออกมาให้ยลโฉมเป็นครั้งคราว ในช่วงฤดูแล้งประมาณเดือน มีนาคม – พฤษภาคม ดอกไม้ป่าหลายชนิดจะพากันบานเต็มทุ่งกิ๊ก สวยงามน่าชมมาก นอกจากนี้ยังมีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติและดูนก นักท่องเที่ยวสามารถกางเต้นท์พักแรมที่ทุ่งกิ๊กได้

 

“น้ำตกก้อหลวง” อ.ลี้ จ.ลำพูน เป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติแม่ปิงที่ไม่ควรพลาด ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติประมาณ ๒๒ กม. น้ำตกก้อหลวง เป็นน้ำตกหินปูนที่เกิดจากลำน้ำในห้วยก้อ มีความสูงต่างระดับลดหลั่นลงมาทั้งหมด 7 ชั้น ภายในน้ำตกก้อหลวงมีหินงอกหินย้อยที่สวยงาม สัมผัสความร่มรื่นของป่าไม้และอากาศที่เย็นสบาย มีความชุ่มชื่นจากน้ำตก โดยในบริเวณน้ำตกยังมีแอ่งน้ำขนาดใหญ่ที่มีสีเขียวมรกต มีปลาชนิดต่างๆ อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก

 

“โรงเรียนบ้านก้อจัดสรร สาขาเรือแพ” อ.ลี้ จ.ลำพูน หลายๆคน คงเคยดูหนังเรื่อง “ คิดถึงวิทยา ” ซึ่งในหนังเรื่องนี้ได้พูดถึงโรงเรียนแห่งนี้ เรื่องราวของหนังได้สื่อออกมาให้เห็นถึงชีวิตความเป็นอยู่ของครูและนักเรียน จึงทำให้โรงเรียนบ้านก้อจัดสรร สาขาเรือนแพ เป็นที่รู้จักไปทั่ว สำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจจะมาเที่ยว ซึ่งปกติจะมีนักท่องเที่ยวแวะมาเยี่ยมโรงเรียนอยู่เรื่อยๆ สามารถเช่าแพในลักษณะให้เรือลากได้ ใช้เวลาเดินทางจากจุดขึ้นเรือประมาณ 40 นาที ก็ถึงโรงเรียนแล้ว ในช่วงหน้าหนาวอากาศจะดีมาก ๆ และหากมาช่วงเปิดเทอมจะได้เจอเด็ก ๆด้วย

 

ผ่านจากอำเภอลี้สู่ อ.บ้านโฮ่ง แวะพักกายพักใจ ฟินน์กับกลิ่นกาแฟอาราบริก้าแท้ 100% ณ ปา’กา คอฟฟี่ อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน กาแฟดีแห่งชุมชนป่าแป๋ บนความสูง 1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีคุณภาพดีมีกลิ่นที่หอม ซึ่งร้าน ปา’ กา คอฟฟี่ ยังดูแลเอาใจใส่ทุกขั้นตอน ตั้งแต่การปลูก เพาะเมล็ด จนไปถึงการคั่วเมล็ดกาแฟด้วยมือ ทำให้กาแฟของร้าน ปา’ กา คอฟฟี่ มีรสชาสติที่อร่อยไม่เหมือนใคร

 

“บ้านดอนหลวง” ตั้งอยู่ที่ ต.แม่แรง อ.ป่าซาง ห่างจากตัวเมืองลำพูน ประมาณ ๒๓ กม. โดยชาวยองได้เข้าตั้งบ้านเรือนเป็นชุมชนใหญ่ ปัจจุบันหมู่บ้านแห่งนี้ เป็นแหล่งรวมหัตถกรรมของดีชุมชนชาวยอง อาทิ กลุ่มทอผ้าฝ้ายพื้นเมือง กลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผ้าฝ้าย กลุ่มทอผ้า กลุ่มตัดเย็บ กลุ่มเกษตรสวนลำไย และกลุ่มบาติกมัดย้อม ซึ่งสินค้าขึ้นชื่อของหมู่บ้านดอนหลวง ได้แก่ การทอผ้าฝ้ายทอมือ ซึ่งเป็นงานที่สืบทอดฝีมือกันมาจากรุ่นสู่รุ่น สินค้าหัตถกรรมจากผ้าฝ้ายหลากหลายรูปแบบ อาทิ เสื้อผ้า ผ้าคลุมไหล่ปลอกหมอน ผ้าม่าน ผ้าปูโต๊ะ ผ้าปูเตียง ถือเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว

“บ้านหนองเงือก” อ.ป่าซาง จ.ลำพูน แหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาผ้าทอมือและวัฒนธรรมชาวยอง เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่นิยมดื่มด่ำบรรยากาศความสงบของธรรมชาติ ซึมซับไปกับศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น มีวัดหนองเงือกเป็นจุดศูนย์รวม หมู่บ้านแห่งนี้โดดเด่นในเรื่องการทอผ้า ซึ่งทำให้เกิดเรื่องราวของ “หูกคู่รัก” ที่สามารถทอได้พร้อมกันสองคน สะท้อนความรักของคู่รักที่ร่วมกันถักทอจนกลายเป็นผืนผ้าแห่งสายใยรัก นอกจากนี้ในชุมชนหนองเงือกยังมีอุทยานสมุนไพรและเกษตรอินทรีย์วิถีพอเพียง สินค้า OTOP ที่โดดเด่น ได้แก่ รองเท้าจาวยอง เป็นสินค้าช่วยลดภาวะโลกร้อนทำจากยางในรถยนต์ ซึ่งมีความทนทานใส่สบายราคาประหยัด

 

“วัดพระพุทธบาทตากผ้า” อ.ป่าซาง จ.ลำพูน มีตำนานกล่าวไว้ว่าครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จมาสู่ดินแดนสุวรรณภูมิ(ประเทศไทยในปัจจุบัน) โปรดเวไนยสัตว์ หลังจาริกและประทับพระบาทในที่ต่างๆ แล้ว เมื่อเสด็จมาถึงบริเวณวัดพระพุทธบาทตากผ้าแห่งนี้ซึ่งเป็นผาลาด สถานที่ที่พระองค์ทรงตั้งพระทัยจะประดิษฐานปาทเจดีย์ จึงทรงหยุดพักผ่อน แล้วให้พระอานนท์นำเอาจีวรไปตากบนผาลาดใกล้กับที่ประทับ หลังจากนั้นทรงอธิษฐานเหยียบพระบาทประดิษฐานรอยไว้บนผาลาดนี้ เพื่อเป็นที่สักการบูชาของมวลเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย และตรัสทำนายว่าสถานที่แห่งนี้จะปรากฏชื่อว่า “พระพุทธบาทตากผ้า”