เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2563 ณ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) แม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง  สื่อมวลชนจังหวัดลำปาง จำนวน 24 คน  ได้เข้าชมและรับฟังบรรยายประสิทธิภาพการทำงานของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนแม่เมาะ เครื่องที่ 1  หรือ MM-T1 ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 4-7 ที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2562 โดยมีนายพลศรี สุวิศิษฏ์อาษา ผู้ช่วยผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า 2 พร้อมด้วยผู้บริหาร ได้ให้การต้อนรับ  ทั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนเห็นถึงการทำงานและรับทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับภารกิจ ความรับผิดชอบ และการดำเนินการของ กฟผ.แม่เมาะ ต่อสถานการณ์ต่างๆ ทั้งการจัดการด้านพลังงานไฟฟ้า ปัญหาฝุ่นละออง ตลอดจนแลกเปลี่ยนประเด็นความเห็นต่างๆ

สำหรับประเด็นสำคัญที่มีการพูดถึงในครั้งนี้ คือสถานการณ์พลังงานของประเทศ เกี่ยวกับโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าและกำลังการผลิตในอนาคต ที่สอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580   โดยกำหนดให้มีโครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทนเครื่องที่ 8-9  ที่กำลังจะมีการจัดเวทีรับฟังความเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียฯ ครั้งที่ 3 ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์นี้ และมีแผนเดินเครื่องเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการ ทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 8-9 เดิม ในปี 2569  ทำให้กำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าแม่เมาะจะลดลงเหลือเพียง 1,315 เมกะวัตต์ จากปัจจุบัน 2,455 เมกะวัตต์ ซึ่ง กฟผ. ได้วางแผนในการนำพลังงานอื่นๆ มาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า เพื่อรักษาความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ตอบรับความต้องการใช้ไฟฟ้าของประชาชนอย่างเพียงพอ

นอกจากนี้สื่อมวลชนยังได้ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นปัญหาฝุ่นละอองในภาคเหนือ ซึ่งผู้บริหาร กฟผ.แม่เมาะ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการการควบคุมฝุ่นละอองจากกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าและการทำเหมืองให้มีค่าต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ทั้งยังมีการตรวจวัดค่าฝุ่น PM2.5 และเก็บข้อมูลเปรียบเทียบกับค่าจุดความร้อนที่เกิดจากการเผาป่าและเศษวัชพืชในพื้นที่ภาคเหนือ พบว่าปริมาณฝุ่นมีค่าสัมพันธ์กับจำนวนจุดความร้อนดังกล่าว ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิจัยที่เหมืองแม่เมาะ ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยรังสิต และกรมควบคุมมลพิษ ที่พบว่า 50% ของแหล่งที่มาของฝุ่นละอองขนาดเล็กใน อ.แม่เมาะ เกิดจากควันของการเผาวัสดุ เศษวัชพืช และไฟป่า อีกทั้งยังมีงานวิจัยที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะ ที่ร่วมกับศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ศึกษาและวิจัยแหล่งที่มา  ตลอดจนพัฒนาต้นแบบสำหรับตรวจวัดจำแนกฝุ่น PM 2.5 เพื่อแยกอนุภาคฝุ่นที่เกิดจากกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าและฝุ่นชนิดอื่นๆ ซึ่งจากการวิเคราะห์หาองค์ประกอบทางเคมี พบว่ามีแหล่งกำเนิดหลักจากแหล่งอื่นที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศอีกด้วย โดยปัจจุบันได้ติดตั้งเครื่องต้นแบบจำแนกแหล่งที่มาของฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ณ สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศหลักของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เพื่อนำค่าฝุ่นตลอดทั้งปีที่เก็บได้ ไปพัฒนาเป็นเครื่องตรวจวัดและจำแนกฝุ่น สำหรับนำไปติดตั้งยังสถานีตรวจวัดรอบโรงไฟฟ้าแม่เมาะ

ในโอกาสนี้สื่อมวลชนได้เข้าเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าพลังความร้อนแม่เมาะเครื่องที่ 1  ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนใช้ถ่านหินลิกไนต์เป็นเชื้อเพลิงหลัก มีกำลังการผลิตติดตั้ง 655 เมกะวัตต์ ใช้เทคโนโลยีไอน้ำแบบแรงดันเหนือวิกฤติ หรือที่เรียกว่า อัลตร้าซุปเปอร์คริติคอล  ซึ่งระบบของหม้อต้มน้ำ ที่สามารถผลิตไอน้ำสำหรับมาปั่นเครื่องกำเนิดไฟฟ้าด้วยอุณหภูมิและแรงดันที่สูงขึ้น ทำให้เกิดการเผาไหม้ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าลดลง และมีประสิทธิภาพในการกำจัดมลสารเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย