เมื่อวันที่ 5 พ.ค.2566  ที่บริเวณลานด้านหน้าสถานีรถไฟนครลำปาง นายชัชวาลย์ ฉายะบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป็นประธานพิธีเปิดเทศกาลรถม้าคาร์นิวัลนครลำปาง ภายใต้โครงการเที่ยวลำปาง 365 วัน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยมี นายฮิกุจิ เคอิจิ กงสุลใหญ่ญี่ปุ่น ณ นครเชียงใหม่ พร้อมด้วยส่วนราชการ ภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนประชาชนและนักท่องเที่ยว เข้าร่วมงานในค่ำวันที่ 5 พฤษภาคม ที่ผ่านมา เป็นจำนวนมาก

การจัดงานเทศกาลรถม้าคาร์นิวัลนครลำปาง ประจำปี 2566 จัดขึ้นเป็นครั้งแรก ระหว่างวันที่ 5-7 พฤษภาคม 2566 เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดลำปางโดยค่ำวันที่ 5 พฤษภาคม มีขบวนพาเหรดรถม้าคาร์นิวัล กว่า 12 ขบวน เริ่มปล่อยขบวนจากหน้าสถานีรถไฟนครลำปาง ไปตามเส้นทางถนนฉัตรไชย ห้าแยกหอนาฬิกา และไปตามเส้นทางถนนบุญวาทย์ สิ้นสุดขบวน ณ มิวเซียมลำปาง

สำหรับขบวนรถม้าทั้งหมดมี 12 ขบวน  ได้แก่

ขบวนที่ 1  ขบวนรถม้าเทิดพระเกียรติ จากสำนักงานจังหวัดลำปาง ร่วมกับที่ทำการปกครองจังหวัดลำปาง

 

ขบวนที่ 2ขบวนรถม้าลำปางเรอเนซองส์ จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(สำนักงานลำปาง)

เป็นขบวนที่นำเสนอถึงความรุ่งเรืองของเมืองลำปาง ในช่วงสมัยปลายรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา โดยจะนำเสนอวิถีชีวิตคนกับช้าง คนกับม้า คนกับรถราง(รถไฟ) และคนกับเซรามิก รวมถึงวิถีวัฒนธรรมชุมชนเก่า บ้านไม้เก่า วัดพม่า) ที่เกิดขึ้นในช่วงการสัมปทานป่าไม้ที่ยังปรากฏให้เห็นร่องรอยทางวัฒนธรรมมาถึงปัจจุบัน  รวมถึงภาพจำของการหลั่งไหลเข้ามาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่ก่อให้เกิดการผสมผสานของงานสถาปัตยกรรมและศิลปวัฒนธรรมนานาชาติ อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของจังหวัดลำปาง

ขบวนลำปางเรอเนซองส์ครั้งนี้ ประกอบไปด้วยขบวนรถม้า จำนวน 5 คัน นำทีมโดยผู้อำนวยการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(สำนักงานลำปาง)และยุวทูตท่องเที่ยววิถีไทยจังหวัดลำปางตามด้วยรถขบวนลำปางเรอเนซองส์ นำเสนอภาพจำของนครลำปางยุครุ่งเรือง ในรูปแบบ “ภาพขาวดำ”

ขบวนที่ 3 ขบวนรถม้าย้อนรอยการศึกษาอนุบาลลำปาง จากโรงเรียนอนุบาลลำปาง(เขลางค์รัตน์อนุสรณ์)

เป็นขบวนที่มีแนวคิดอนุบาลลำปางต้องเป็นหนึ่ง โรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัดลำปาง มีเรื่องราวมากมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นักเรียน ครู มีผลงานที่สร้างชื่อเสียงจนเป็นหนึ่งของจังหวัดลำปาง โดยรูปแบบขบวนแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนที่ 1 ย้อนรอยอนุบาลลำปาง ส่วนที่ 2 อนุบาลลำปางกับการศึกษาไทย และส่วนที่ 3 เป็นหนึ่งได้โดยไม่พึ่งยาเสพติด

ขบวนที่ 4  ขบวนรถม้าสื่อปลอดภัยสร้างสรรค์ สร้างค่านิยมเชิงบวก จากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง

มีแนวคิดในการสร้างค่านิยมเชิงบวก และเฝ้าระวังความเบี่ยงเบนทางวัฒนธรรม ส่งเสริมคุณธรรม พอเพียง มีวินัย สุจริต จิตอาสา และกตัญญู โดยใช้สื่อและสื่อสารมวลชน ในการปลูกฝังค่านิยมและวัฒนธรรมค่ะ

ผู้ถือป้ายชื่อสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง แต่งกายแฟชั่นผ้าไทยร่วมสมัย ป้ายรณรงณ์ คุณธรรม มีวินัย สุจริต จิตอาสา และกตัญญู ตกแต่งขบวนด้วยลูกโป่ง สวยงาม แสดงถึงความพอเพียง ไม่ตึง ไม่หย่อน จนเกินไป หากตึงเกินไปลูกโป่งก็จะแตก หย่อนเกินไปก็ลอยไม่ได้ และมีข้อความ Content สร้างแนวคิดเชิงบวกต่างๆ

ขบวนที่ 5  ขบวนรถม้าคาร์นิวัลสำนักดาบเจ้าพ่อทิพย์ช้าง จากมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตลำปาง

เป็นการเชิดชู น้อมรำลึกถึงความกล้าหาญของเจ้าพ่อทิพย์ช้าง ให้เยาวชนคนรุ่นหลังได้เห็นถึงพระปรีชาสามารถของเจ้าหนานทิพย์ช้าง ที่ทรงกอบกู้เอกราชให้ชาวล้านนาได้อยู่ร่มเย็นเป็นสุขตราบจนทุกวันนี้ รูปแบบขบวนมีการตกแต่งจำลองสถานการณ์การฝึกซ้อมรบ โดยมีเจ้าพ่อทิพย์ช้างหรือหนานทิพย์ช้าง เป็นผู้ควบคุมการซ้อมรบ มีการฟันดาบ มีนักรบพ่นดาบไฟ และมีทหารม้าขี่ม้า พร้อมกับการเต้นไลน์แดนซ์ เต้นประกอบเพลงสาวลำปาง เพลงสาวก๋าไก่ และเพลงลำปางนครแห่งความสุข

ขบวนที่ 6  ขบวนรถม้า Princess of flowers. จากสภาอุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง

มีแนวคิดในการส่งเสริมการท่องเที่ยวสีเขียว (BCG MODEL ECONOMY) การนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีมาประยุกต์กับการท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืนมากขึ้นในการพัฒนาเศรษฐกิจ เน้นความร่วมมือจากผู้ประกอบการให้ดำเนินธุรกิจท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ ลดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม แบ่งปันประโยชน์เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน

รูปแบบขบวนมีรถม้า รถบุปพาชาติ มีการแต่งกายร่วมสมัย มีป้ายคอนเทนส์ท่องเที่ยว BCG ในรูปแบบต่างๆ ตามด้วย ขบวนรถอเมริกันโบราณ

ขบวนที่ 7  ขบวน Lampang Rainbow LGBTQ Pride พาเหรด ทุกเพศเท่าเทียม จากสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวเมืองเขลางค์นคร

มีแนวคิดในการขับเคลื่อนให้มีการยอมรับ กลุ่ม LGBTQ นั้น มีมาทุกยุคทุกสมัย ในแง่มุมที่แตกต่างกันออกไป การแสดงออกถึงความต้องการสิทธิความเท่าเทียมกันในสังคม ความหลากหลายทางเพศ เฉลิมฉลองกันอย่างคึกคัก อย่างจัดเต็ม โบกธงสีรุ้งให้สะบัด เพื่อเป็นแรงผลักดันให้เกิดความเสมอภาคของชาว LGBTQ รูปแบบขบวนมีการการขับเคลื่อนให้มีการยอมรับ กลุ่ม LGBTQ นั้น รูปแบบขบวนมีการแต่งกายไม่จำกัดรูปแบบ ไม่จำกัดเพศ ไม่จำกัดจำนวน ประดับธงสีรุ้ง และธง TYPE LGBTQ

ขบวนที่ 8  ขบวนรถม้า Flora Charming จากหอการค้าจังหวัดลำปาง

มีแนวคิดในการพัฒนาเชิงสร้างสรรค์ของจังหวัดลำปาง ผ่านสัญลักษณ์น้องชาม “CHARM” โดยผสานทุนทางวัฒนธรรมของลำปางผ่าน 5 soft power คือ

  1. Charming หมายถึง เสน่ห์ ยั่งยืน
  2. Heritage หมายถึง มรดก
  3. Artistic หมายถึง ศิลปะร่วมสมัย
  4. Relax หมายถึง ความผ่อนคลาย สบายเป็นกันเอง
  5. Memories หมายถึง บันทึกความทรงจำ

รูปแบบขบวน ประกอบด้วยขบวนรถม้า รถบุปผาชาติ แสดงสัญลักษณ์ของจังหวัดลำปาง น้อง “CHARM”  ตกแต่งสวยงามด้วยดอกไม้ตามด้วยริ้วขบวนคาร์นิวัล ผู้ร่วมขบวนแต่งกายประดับไปด้วยดอกไม้

ขบวนที่ 9  ขบวนรถม้าอาณานิคม จากสภาวัฒนธรรมอำเภอเมือง

แสดงถึงความรุ่งเรืองทางการค้ากับชาวตะวันตก ที่ปรากฏให้เห็นในอดีต ทำให้เมืองลำปาง เจริญรุ่งเรืองทางการค้ามาถึงปัจจุบัน

ขบวนที่ 10  ขบวนรถม้า นุ่งซิ่นอินเทรนด์ นุ่งผ้าไทยให้สนุก จากเพจกลุ่มนุ่งซิ่นปากั๋นแอ่ววิถีอัตลักษณ์ล้านนา

มีแนวคิดในการส่งเสริมคุณธรรม เริ่มต้นที่ตัวเราพอเพียง มีวินัย สุจริต จิตอาสา กตัญญูต่อบ้านเกิด สนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ว่าจะเป็นการนุ่งซิ่นนั่งรถม้า นุ่งซิ่นอินเทรด์ 4 ภาค ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสาน และภาคใต้ มีการรณรงค์นุ่งซิ่น จากรุ่นสู่รุ่น วัยแม่บ้าน วัยทำงาน วัยละอ่อยน้อย

ขบวนที่ 11  ขบวนรถม้าแฟนตาซี ลีลาม้าเต้น จาก NLP ฟาร์มม้าลำปาง

เป็นขบวนแฟนตาซี ที่สร้างสีสัน และสร้างความบันเทิงของคนกับม้า ร่วมเต้นไปด้วยกันอย่างสนุกสนาน รูปแบบขบวนมีรถม้าสองล้อทรง Road Cart มีม้าแฟนตาซีออกลีลาเต้นมาจากจังหวัดราชบุรี  และมีรถม้าทรง Victorie ตกแต่งด้วยลูกโป่งแฟนซี รวมถึงมีชุมกลองโบ้มบรรเลงเพลงแนวรำวง และยังมีการแต่งตัวรำวงย้อนยุคและตีมคาบอยอีกด้วย

ขบวนที่ 12  ขบวนย้อนยุคตะวันตกคาวบอย 1800  จากคาวบอย 1800

เป็นขบวนที่จัดย้อนยุควิถีคาวบอยแบบตะวันตก ในปี ค.ศ.1800 มีขบวนเกวียนคาวบอย ที่เป็นรถขนเสบียงและสัมภาระของคาวบอย ใช้เดินทางไปยังรัฐต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา ในยุค ค.ศ.1800 ซึ่งบ้างคันสามารถใช้ม้าหรือวัวเทียมได้ แต่สำหรับขบวนนี้ใช้วัวเทียม ซึ่งวัวคู่นี้ได้นำมาจากจังหวัดราชบุรีเป็นวัวที่ใช้ประกอบในการถ่ายทำละครทีวีและภาพยนตร์ และมีการขี่ม้าถือธง ซึ่งเป็นรถม้ารูปแบบตะวันตก รวม 2 คัน

สำหรับกิจกรรมในวันที่ 6-7 พฤษภาคม จัดขึ้น ณ ปางหลวงการ์เด้น อ.เมืองลำปาง ประกอบด้วย การแข่งขันกีฬาขี่ม้าคาวบอย ลำปางคัพ มีฟาร์มมาร่วมแข่งขันจากทั่วประเทศไทยกว่า 20 ฟาร์ม กิจกรรมการประกวดธิดาอาชา การแสดงของกลุ่มคาวบอย โดยวันเสาร์ที่ 6 พฤษภาคม การประกวดธิดาอาชา MISS CANIVAL และวันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม การแสดงแฟชั่นโชว์และตัดสินการประกวด YOUNG DESIGNER CONTEST 2023

ทั้งนี้ จังหวัดลำปาง มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ยาวนานได้ขนานนามว่าเมืองแห่ง “รถม้า” เป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่น สำคัญคู่เมืองลำปางในการต้อนรับคนต่างถิ่นรถม้าและ “ม้า” ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของชาวลำปางที่ยาวนานนับเป็นเวลากว่า 100 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2459 มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีจำนวนรถม้าที่ขึ้นทะเบียนกับสมาคมรถม้าจังหวัดลำปาง มากกว่า 100 คัน และมีมากที่สุดในประเทศไทยและในอาเซียน ปัจจุบันรถม้ามีความสำคัญในการให้บริการท่องเที่ยว เป็นจังหวัดเดียวที่ให้ “ม้า” วิ่งบนท้องถนนเคียงคู่กับรถยนต์ โดยในแต่ละปีรถม้าลำปางได้ก่อให้เกิดรายได้จากการให้บริการเป็นจำนวนมาก มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นการขับเคลื่อนจังหวัดลำปางให้เป็นเมืองน่าเที่ยว จะไม่ใช่เมืองผ่าน และเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวที่ต้องการสัมผัส ธรรมชาติ ศิลปะ วัฒนธรรม วิถีล้านนา และความเป็นเมือง “โรแมนติกซิตี้” รถม้าลำปาง จึงมีความสำคัญ และเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดลำปาง