Uhuuu3PFtSk

โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากิ่วลม-กิ่วคอหมา เป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักงานชลประทานที่ 2 กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แบ่งหน่วยงานภายในออกเป็น 1 งาน 7 ฝ่าย ประกอบด้วย งานบริหารทั่วไป ฝ่ายวิศวกรรม ฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน ฝ่ายช่างกล และ ฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 1-4 รับผิดชอบในการบูรณาการแผนงานด้านการบริหารจัดการน้ำ และพัฒนาแหล่งน้ำร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และชุมชน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน  มีหน้าที่วางแผน ควบคุม ตรวจสอบ ประเมินผล การบริหารจัดการน้ำ การเก็บกัก ทดน้ำ ส่งน้ำ ระบายน้ำ ป้องกันภัย อันเกิดจากน้ำในพื้นที่ กำกับดูแล ดำเนินโครงการให้ถูกต้อง สอดคล้องกับนโยบาย และความต้องการของประชาขน ก่อสร้าง ซ่อมแซม บำรุงรักษาอาคารและระบบชลประทาน ให้เป็นไปตามรูปแบบ ดูแลการใช้ทางน้ำชลประทาน ให้ถูกต้องตามระเบียบและกฎหมาย เตรียมเครื่องจักรให้พร้อมใช้งานเสมอ เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำให้แก่องค์กรผู้ใช้น้ำ บริหารจัดการน้ำอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากิ่วลม-กิ่วคอหมา มีพื้นที่โครงการ 146,858 ไร่ พื้นที่ชลประทาน 94,726 ไร่ มีความต้องการใช้น้ำในช่วงฤดูฝนเพื่อการเกษตร 188.94 ลบ.ม./ปี เพื่อการอุปโภค-บริโภค 7.51 ลบ.ม./ปี รักษาระบบนิเวศ  42.84 ลบ.ม./ปี และอื่น ๆ  283.18 ลบ.ม./ปี  มีความต้องการใช้น้ำในช่วงฤดูฝนต่อปี ประมาณ  522.47  ลบ.ม./ปี โดยการบริหารจัดการน้ำต้องอาศัยน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ 2 เขื่อน คือเขื่อนกิ่วลม มีความจุ 106.2 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนกิ่วคอหมา มีความจุ 170 ล้าน ลบ.ม.

โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากิ่วลม-กิ่วคอหมา อยู่ในลุ่มน้ำวังซึ่งเป็นลุ่มน้ำ 8 สาขาหลัก ของลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยลุ่มน้ำวังมีลำน้ำสาขา ได้แก่ ลุ่มแม่น้ำวังตอนบน ลุ่มแม่น้ำแม่สวย ลุ่มน้ำแม่ตุ๋ย ลุ่มแม่น้ำวังตอนกลาง ลุ่มน้ำแม่ต๋ำ ลุ่มแม่น้ำจาง และลุ่มแม่น้ำวังตอนล่าง ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 10,791 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่ครอบคลุมจังหวัดลำปาง และจังหวัดตาก ซึ่งพื้นที่มากกว่าร้อยละ 90 อยู่ในเขตจังหวัดลำปาง ความยาวลำน้ำประมาณ 460 กิโลเมตร

ปัญหาอุทกภัย ‘ลุ่มน้ำวัง’ มีปริมาณฝนเฉลี่ย 1,098.6 มิลลิเมตร ปริมาณน้ำท่าเฉลี่ย 1,513 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี โดยในปี พ.ศ. 2548 ได้เกิดอุทกภัยใหญ่ในเขตเทศบาลเมืองลำปาง เนื่องจากเขื่อนกิ่วลมไม่สามารถรองรับปริมาณน้ำท่า ที่ไหลลงมาเป็นจำนวนมาก กรมชลประทาน จึงได้ก่อสร้างเขื่อนกิ่วคอหมาขึ้นมา ซึ่งอยู่ตอนเหนือของเขื่อนกิ่วลม ประมาณ 55 กิโลเมตร ปิดกั้นแม่น้ำวัง มีความจุ 170 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถเก็กกักน้ำได้สูงสุดถึง 209 ล้านลูกบาศก์เมตร ช่วยแก้ปัญหาในการขาดแคลนน้ำ ป้องกันการเกิดอุทกภัย และสามารถส่งน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค ให้เขตอำเภอแจ้ห่ม เพื่อช่วยเหลือพื้นที่ชลประทานด้านท้ายเขื่อนกิ่วคอหมาได้จำนวน 20,000 ไร่ และสามารถเพิ่มศักยภาพในการขยายพื้นที่ชลประทานได้อีก 76,378  ไร่

แนวทางการแก้ไขปัญหาอุทกภัย ภายใต้แผนงานที่ไม่ใช่สิ่งก่อสร้าง ได้แก่ การวางแผนการระบายน้ำและการเฝ้าระวังและการเตือนภัย ภายใต้แผนงานที่ใช้สิ่งก่อสร้าง มีการวางแผนงานซ่อมแซมอาคารชลประทาน ที่ชำรุดเสียหาย ให้กลับมาใช้งานได้ดีดังเดิม รวมถึงวางแผนงานปรับปรุงอาคารชลประทาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งน้ำและระบายน้ำ

สำหรับแนวทางเฝ้าระวังแจ้งเตือนในพื้นที่เสี่ยงภัย โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากิ่วลม-กิ่วคอหมา ได้กำหนดจุดวัดระดับน้ำเพื่อเฝ้าระวังและเตือนภัยให้ราษฎรสองริมฝั่งแม่วังได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นย้ำ และรวดเร็ว ทันต่อเหตุการณ์

จำนวน 5 จุด ประกอบด้วย

  • จุดวัดระดับน้ำใต้สะพานแขวนหน้าฝายยาง
  • จุดวัดระดับน้ำใต้สะพานพัฒนาภาคเหนือ
  • จุดวัดระดับน้ำใต้สะพานรัตนโกสินทร์ 200 ปี
  • จุดวัดระดับน้ำใต้สะพานช้างเผือก
  • จุดวัดระดับน้ำใต้สะพานเขลางค์

นอกจากนี้  โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากิ่วลม-กิ่วคอหมา  ยังมีแนวทางแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในลุ่มน้ำวังและปัญหาภัยแล้ง  โดยวางแผนการบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูแล้งในแต่ละอ่างเก็บน้ำ มีการประชุมวางแผนร่วมกับเกษตรกรก่อนถึงฤดูแล้ง เพื่อให้เป็นไปตามแผนการบริหารจัดการน้ำของโครงการ

งานด้านนโยบาย โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากิ่วลม-กิ่วคอหมา ได้ดำเนินการตามนโยบายของกรมชลประทาน RID No.1 ร่วมกันเป็นหนึ่ง เพื่อสร้างความเป็นหนึ่ง รวดเร็ว ถูกต้อง ตรงเป้า ในด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยให้เกษตรกรมีส่วนร่วมวางแผนการบริหารจัดการน้ำ ทั้งในฤดูแล้งและฤดูฝน วางแผนเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ โดยจัดทำแผนงานซ่อมแซมและปรับปรุงอาคารชลประทานต่าง ๆ ให้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการน้ำของโครงการ มีการใช้แอพพลิเคชั่น เพื่อนำข้อมูลมาใช้สำหรับการบริหารจัดการน้ำ รวมถึงตรวจสอบความมั่นคงของเขื่อนกิ่วลมและเขื่อนกิ่วคอหมาอยู่เสมอ

การบริหารจัดการน้ำของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากิ่วลม-กิ่วคอหมา เป็นการบูรณาการร่วมกับเกษตรกรผู้ใช้น้ำ องค์กรส่วนปกครองส่วนท้องถิ่น และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้ง ปลูกจิตสำนึกให้กับเยาวชนได้ตระหนักรู้ถึงความสำคัญของระบบชลประทาน และขับเคลื่อนการพัฒนางาน เพื่อสร้างความเป็นองค์กรอัจฉริยะ เกิดประโยชน์แก่ประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่มั่นคง ยั่งยืน สืบไป