“เลือกตั้งครั้งนี้ เลือกคนที่รัก อย่ามองแค่พรรคที่ชอบ เพราะกฎหมายรัฐธรรมนูญใหม่ เปิดโอกาสให้ ส.ส.ย้ายพรรคได้”

บรรยากาศการหาเสียงในพื้นที่ จ.ลำปาง ทั้ง 4 เขต หลังจากมีการเปิดรับสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตไปเมื่อวันที่ 4-8 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา  ซึ่ง จ.ลำปาง มีผู้สมัครทั้งหมด 117 คน  แต่ไม่ผ่านคุณสมบัติจำนวน 3 คน จึงเหลือผู้สมัครอยู่ 114 คน   แม้ว่าจะดูราบเรียบ ไม่คึกคักเหมือนการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา อาจมาจากการที่มีข้อปฏิบัติและระเบียบละเอียดมากขึ้น ผู้สมัครเองก็ต้องระมัดระวังมากขึ้นด้วย  ทำให้การหาเสียงในปีนี้เริ่มขึ้นช้ากว่าครั้งที่ผ่านมา  และยังคงเห็นป้ายหาเสียงของผู้สมัครพรรคใหญ่  คือ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคอนาคตใหม่ พรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคเพื่อแผ่นดิน  ส่วนพรรคเกิดใหม่  เช่น  พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคภราดรภาพ  พรรคพลังท้องถิ่นไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคไทยรักษาชาติ  ก็มีให้เห็นอยู่บ้างในบางจุด ขณะเดียวที่ตัวผู้สมัครแต่ละเขต ก็ได้ออกเดินหาเสียงพบปะกับประชาชน ให้ได้เห็นกันอยู่หลายพรรค

เลือกตั้งครั้งนี้ พรรคที่แข่งขันกันในสนามเลือกตั้งหลักๆ ยังคงเป็นพรรคเพื่อไทย  พรรคประชาธิปัตย์   ซึ่งมีผู้สมัครพรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย และพรรคอนาคตใหม่ เข้ามาสร้างสีสันได้ในบางเขต  ในส่วนของพรรคเล็กอื่นๆ ก็เป็นที่น่าจับตามอง เพราะผู้สมัครหลายคนเป็นคนที่คุ้นเคยอยู่ในวงการเมืองท้องถิ่น และหลายคนก็เคยลงสมัครในสนามเลือกตั้ง ส.ส.ลำปางมาก่อน เป็นที่คุ้นหน้าคุ้นตากันอยู่

ในเขตเลือกตั้งที่ 1 พรรคเพื่อไทย ยังคงเป็นนายกิตติกร โล่ห์สุนทร เบอร์ 10 ที่ลงประกบคู่กับนางขนิษฐา นิภาเกษม เบอร์ 2 จากพรรคประชาธิปัตย์  เพิ่มเติมคือมีนายจินณ์ ถาคำฟู เบอร์ 7 จากพรรคพลังประชารัฐ   นางฑิพาฏีพ์ ปวีณาเสถียร นักธุรกิจเจ้าของโรงน้ำแข็งประหยัดธุรกิจ  ลงสนามในนามของพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งมือเฮง ได้เบอร์ 1   อีกคน คือนายนคร โยธาวงศ์  เบอร์ 12 จากพรรครวมพลังประชาชาติไทย  ก็เป็นที่คุ้นเคยของชาวบ้านอย่าง และเคยในสนามเลือกตั้ง ส.ส.มาแล้วหลายครั้ง

เขตเลือกตั้งที่ 2  เป็นเขตที่น่าจับตามองมากที่สุด เมื่อนายไพโรจน์ โล่ห์สุนทร  อดีต ส.ส.ลำปางหลายสมัย โดยมาลงสมัคร ส.ส.พรรคเพื่อไทย ซึ่งได้เบอร์ 7 แทนนายวาสิต พยัคฆบุตร  ต้องชิงชัยกับนายดาชัย เอกปฐพี  เบอร์ 4 จากพรรคพลังประชารัฐ  ที่ขยันลงพื้นที่อย่างหนักหน่วงเพื่อเรียกคะแนนจากชาวบ้าน  และได้กระแสตอบรับที่ดีไม่น้อย  ซึ่งสองคนที่เคยห้ำหั่นกันมาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อครั้งลงชิงตำแหน่งนายกสมาคมกีฬาจังหวัดลำปาง เมื่อเจอกันสนามนี้จึงน่าจับตามองเป็นพิเศษ  ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ได้ส่งผู้สมัครหน้าใหม่มาลงแข่งขัน คือ น.ส.กัญญารัตน์ วงศ์วรกุลกิจ เบอร์ 8  ชาวบ้านอาจไม่คุ้นเคยมากนัก แต่ชื่อพรรคก็ยังคงขายได้

ส่วนเขตเลือกตั้งที่ 3  ตัวผู้สมัครไม่ต่างไปจากเดิม พรรคประชาธิปัตย์ ส่งนายนิคม เชาว์กิตติโสภณ เบอร์ 4  ลงสนามตามที่วางตัวไว้  แข่งกับเจ้าของพื้นที่เดิมจากพรรคเพื่อไทย นายจรัสฤทธิ์ จันทรสุรินทร์  เบอร์ 10  ส่วนพรรคพลังประชารัฐ มีนายคมสัน จิตรมั่น  เบอร์  6   และนายฐานศักดิ์ ศรีพงษ์ใหญ่ เบอร์ 2 จากพรรคภูมิใจไทย  ซึ่งคาดการณ์ว่าไม่น่าจะตีป้อมของเพื่อไทยเจ้าของพื้นที่เดิมให้แตกได้

และเขตเลือกตั้งที่ 4  พรรคภูมิใจไทย หลังจากเปิดตัวผู้สมัครออกมาแล้วรอบแรก  ก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนตัวครั้งใหญ่  ดึงนางสุนี สมมี  ผู้สมัครเบอร์ 3  มาลงสู้ศึกในเขต 4  ประกบนายอิทธิรัตน์ จันทรสุรินทร์  เบอร์ 7 พรรคเพื่อไทย ซึ่งฐานเดิมค่อนข้างแข็งแรงพอสมควร  แต่ก็ยังน่าจับตาเพราะนางสุนี เคยลงพื้นที่คลุกคลีกับชาวบ้านมามาก เมื่อครั้งเป็น นายก อบจ.ลำปางหลายสมัคร  ส่วนพรรคพลังประชารัฐ ส่งอดีตรองประธานสภา อบจ. นายวัฒนา สิทธิวัง เบอร์ 5  ลงชิงชัย  และพรรคประชาธิปัตย์ ก็เป็นผู้สมัครหน้าใหม่  นายญานวรุตม์ ธรรมชาติ เบอร์ 11  คาดว่าไม่น่าเป็นที่หนักใจของแชมป์เก่า   ซึ่งเชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งนี้คึกคักไม่น้อย

 #เลือกตั้งใบเดียว

สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ มี ‘บัตรเลือกตั้งใบเดียว’ ให้เราตัดสินใจลงคะแนนเสียงเลือก ‘ส.ส. แบบแบ่งเขต’ นอกจากนี้คะแนนจากการเลือก ส.ส. แบบแบ่งเขตดังกล่าว จะถูกนำไปคำนวณอีกครั้งเพื่อหาจำนวน ‘ส.ส. ที่แต่ละพรรคพึงจะได้รับ’ และเมื่อนำไปหักลบกับจำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขตที่แต่ละพรรคได้รับเลือกมาแล้วก็จะได้ออกมาเป็นจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคจะได้รับอีกครั้ง

#ข้อดี ของบัตรเลือกตั้งใบเดียวคือคะแนนจะเป็นประโยชน์ เพราะเท่ากับว่ากากบาทเพียง 1 ครั้ง คะแนนจะถูกนับในระบบ ส.ส. แบบแบ่งเขต และคะแนนที่เลือกไปนั้นจะถูกนำไปคิดรวมเป็นคะแนนของพรรคเพื่อคำนวณหา ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อในคราวเดียวกัน

#ข้อเสีย คือ เราจะต้องเลือกชอบระหว่างผู้สมัคร หรือพรรคการเมือง ได้อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น เพราะฉะนั้น หากชอบใครก็เลือก #คนที่รัก #กาเบอร์ชอบ  แต่ถ้าชอบพรรคการเมืองใด ก็ต้องตัดใจจากคนที่รักเช่นกัน

ขณะที่พรรคการเมืองใดได้ ส.ส. ไม่น้อยกว่า 25 คน มีสิทธิเสนอชื่อบุคคลตามบัญชีของพรรคให้รัฐสภาลงมติแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีได้

#รู้หรือไม่ว่าส.ส.ย้ายพรรคได้

ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 101 ซึ่งได้กล่าวถึง สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่ง ข้อ  8 ระบุว่า  ส.ส.จะพ้นสมาชิกสภาพ ลาออกจากพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิก และข้อ 9  พ้นจากการเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิกตามมติของพรรคการเมืองนั้น ด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของที่ประชุมร่วมของคณะกรรมการบริหารของพรรคการเมือง  และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สังกัดพรรคการเมืองนั้น ในกรณีเช่นนี้ ถ้าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้นั้น มิได้เข้าเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอื่นภายในสามสิบวันนับแต่วันที่พรรคการเมืองมีมติ ให้ถือว่าสิ้นสุด สมาชิกภาพนับแต่วันที่พ้นสามสิบวันดังกล่าว

ดังนั้น เมื่อ ส.ส.ลาออกจากสมาชิกพรรคการเมืองที่สังกัดอยู่ จะต้องหาพรรคการเมืองใหม่ภายใน 30 วัน