รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ลงแขกเกี่ยวข้าวร่วมกับชาวนาในพื้นที่ อ.แม่เมาะ  จ.ลำปาง ในโครงการการส่งเสริมการเกษตรในรูปแบบแปลงนาใหญ่ เกษตรอินทรีย์ ที่ชาวบ้านรวมกลุ่มกันทำจนประสบผลสำเร็จ สามารถลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตได้จำนวนมาก

     เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2559 ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) แปลงใหญ่ (ข้าว)ของเกษตรบ้านห้วยรากไม้  ม.4 ต.สบป้าด อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง    นายสงกรานต์ ภักดีคง รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร นายสุรพล ทองเที่ยง เกษตรจังหวัดลำปาง พร้อมคณะ  เยี่ยมชมการดำเนินงานและรับฟังการบรรยายผลการงานของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน แปลงใหญ่ (ข้าว) ที่จัดตั้งโดยชาวบ้านในพื้นที่ มีสมาชิกทั้งสิ้น  200 คน มีพื้นที่เข้าร่วมโครงการถึง 1,136 ไร่ ซึ่งปลูกพันธุ์ข้าว สันป่าตอง 1 , กข6,  rice berry, มะลิแดง, หอมนิล,

ในการดำเนินงานก่อนลงมือเพาะปลูกได้มีการวิเคราะห์พื้นที่ ได้จัดทำข้อมูลรายแปลง เพื่อให้มีความรู้ตั้งแต่การผลิตจนถึงการแปรรูปเพื่อจำหน่าย ซึ่งที่ผ่านมาสามารถลดต้นทุนการผลิต ลดการใช้เมล็ดพันธ์ข้าวจากเดิม 15 กิโลกรัมต่อไร่ เหลือเพียง 10 กิโลกรัมต่อไร่ รวมถึงลดการใช้ปุ๋ยเคมี จาก 50 กิโลกรัมต่อไร่ เหลือเพียง 30  กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ลดการใช้สารเคมี เปลี่ยนมาใช้สารชีวะภัณฑ์ทดแทน ทำให้ต้นทุนการผลิตโดยรวมลดลงจาก 5,182 บาทต่อไร่ เหลือเพียง  4,041  บาทต่อไร่ ลดลงร้อยละ 22  โดยผลผลิตได้เพิ่มขึ้นจากเดิม 494  กิโลกรัมต่อไร่ เป็น 553 กิโลกรัมต่อไร่ อีกทั้งมีการจัดการด้านการตลาด มีการทำข้อตกลงซื้อขายข้าวเปลือกในราคาที่สูงกว่าตลาด 200 บาทต่อตันกับโรงสีในพื้นที่จังหวัดลำปาง และจำหน่ายข้าวแปรรูปในตลาดชุมชนรวมถึงจุดจำหน่ายสินค้าทั่วไป การดำเนินงานของศูนย์แห่งนี้ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมาก จากนั้นทางคณะได้ลงแขกเกี่ยวข้าวร่วมกับชาวบ้านเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่ชาวนาอีกด้วย

นายสงกรานต์ ภักดีคง รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวถึงแนวทางการขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมการเกษตรในรูปแบบแปลงใหญ่ว่า “จะดำเนินการโดยใช้ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรกร เป็นเครื่องมือในการส่งเสริมการเกษตร ให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องเทคโนโลยีการเกษตรที่เหมาะสมสามารถช่วยแก้ปัญหาของชุมชนและสามารถตอบสนองประเด็นการพัฒนาในพื้นที่ และสอดคล้องกับความต้องการของเกษตรกรให้มีการบริหารจัดการในลักษณะแปลงใหญ่ที่เหมาะสมกับสภาพแต่ละพื้นที่ โดยมีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรทำหน้าที่ เป็นผู้จัดการพื้นที่ และติดตามการดำเนินงานเพื่อให้ประสิทธิภาพตรงตามเป้าหมายที่กำหนดไว้อย่างเช่นในครั้งนี้”