UvHj7UfLyhE

กฟผ.วางแผนรับมือภาวะภัยแล้ง พร้อมบริหารจัดการน้ำโดยคำนึงถึงความพอเพียงของชุมชนเป็นหลัก

แม้จะเพิ่งผ่านพ้นฤดูฝนมา แต่สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำหลัก ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย แม่เมาะ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่จาง และอ่างเก็บน้ำแม่ขาม ยังคงอยู่ในระดับน้อยมาก เนื่องจากในปี 2564 นี้ น้ำฝนตามฤดูกาลเข้าสู่พื้นที่รับน้ำเหนืออ่างน้อย  กฟผ.แม่เมาะ จึงได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่กำหนดแผนบริหารจัดการน้ำ เพื่อเตรียมรับมือกับวิกฤตนี้อย่างต่อเนื่อง

จากการเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำในพื้นที่อย่างใกล้ชิด พบว่าปริมาณน้ำของอ่างตามข้อมูลวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 อ่างเก็บน้ำแม่จางมีปริมาณน้ำที่ใช้ได้ประมาณ 20.478 ล้าน ลบ.ม. หรือ 20.05 % ส่วนอ่างเก็บน้ำแม่ขาม มีปริมาณน้ำที่ใช้ได้ประมาณ 7.473 ล้าน ลบ.ม. หรือ 20.85 % เท่านั้น คาดการณ์ว่าหากปริมาณน้ำฝนเข้าทั้งสองอ่างได้ไม่มากเพียงพอ อาจทำให้มีน้ำใช้ได้ถึงแค่ถึงช่วงกลางปี 2565 เท่านั้น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีแผนบริหารจัดการการใช้น้ำอย่างรัดกุม โดยคำนึงถึงความพอเพียงของน้ำอุปโภคบริโภคสำหรับชุมชนเป็นอันดับแรก ทั้งการเตรียมแผนการสูบน้ำเข้าอ่างเก็บน้ำห้วยคิงตอนล่าง เพื่อสำรองน้ำสำหรับการอุปโภค บริโภคของชุมชนรอบอ่างเก็บน้ำห้วยคิงตอนล่าง การปรับปรุงท่อส่งน้ำบ้านข่วงม่วง-แม่จาง การสนับสนุนน้ำใช้ตามความจำเป็นในรูปแบบของรถบรรทุกน้ำ และจุดจ่ายน้ำตามความจำเป็นให้กับชุมชนโดยรอบ กฟผ.แม่เมาะ นอกจากนั้นยังได้ร่วมกับชุมชนรอบ กฟผ.แม่เมาะ พัฒนาและปรับปรุงแหล่งน้ำในชุมชน ให้เกิดทัศนียภาพที่ดี ตลอดจนร่วมกับหน่วยงานราชการในการขุดลอกคลองเพื่อให้การระบายน้ำจากต้นน้ำแม่จางสู่ปลายน้ำสู่มีความคล่องตัว

กฟผ.แม่เมาะ ยังให้ความสำคัญกับการบริหารน้ำเพื่อความมั่นคงในระบบการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยกำหนดนโยบายและมาตรการในการบริหารจัดการน้ำภายในอย่างรัดกุม เช่น การรณรงค์ประหยัดน้ำใช้ภายในองค์กร ลดการใช้น้ำฉีดล้างภายในหน่วยงานและระบบสำรองน้ำดับเพลิง การบริหารบริหารสัดส่วนน้ำในอ่างแม่จางและแม่ขาม ตลอดจนปรับเปลี่ยนช่วงเวลาหยุดซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้า และอาจต้องหยุดเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าบางเครื่องเพื่อรักษาปริมาณน้ำให้เพียงพอต่อการใช้น้ำในชุมชนเป็นสำคัญ