หมอคิม ร.พ.ลำปาง | ใจล้วนๆ ขาไม่เกี่ยวที่ Tokyo Marathon 2019

ตามหมอคิม ไปก้าวที่

Tokyo Marathon 2019

มันไม่ง่ายจริงๆ

Kim’s file

  • นพดล สี่สุวรรณ เป็นชื่อจริงของเขา
  • คิม เป็นชื่อเล่นที่คุณแม่ตั้งให้ล้วนๆ ที่มาที่ไปจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่รู้เหมือนกัน
  • 9 มกราคม 2527 วันแรกที่เขาตื่นขึ้นมาดูโลก
  • 35 ขวบ เป็นอายุของหนุ่มคนนี้
  • มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถานที่ที่เขาคว้าใบปริญญาคณะแพทย์ศาสตร์ พร้อมๆ กับเป็นหมอธรรมดาหนึ่งคน
  • โรงพยาบาลลำปาง คือสถานที่ทำงานของเขา ปัจจุบันเขาเป็นหมอ อยู่แผนกเวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลลำปาง
  • การถ่ายภาพ เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมยามว่างที่เขาชอบมากที่สุด
  • 3 ปี เข้าวงการวิ่งมาราธอนอย่างจริงจัง
  • งานเขียนบทความ เล่าเรื่องยาวๆ ให้คนอ่าน ..ก็ครั้งนี้นี่แหละ
  • โตเกียว มาราธอน เป็นรายการวิ่งแข่งครั้งที่ห้าในชีวิตของเขา โดยผ่านการ Lotto หรือ จับฉลากหานักวิ่งผู้โชคดี จากผู้สมัครกว่า 400,000 คนในแต่ละปี ให้เหลือเพียง 38,000 คน เรียกว่าใช้ดวงล้วนๆ ฝีเท้าไม่เกี่ยวนั่นเอง

ใจล้วนๆ ขาไม่เกี่ยวที่ Tokyo Marathon 2019

By หมอคิม 

มีหลากหลายเหตุผลที่เราจะเดินทางไปท่องเที่ยวในต่างประเทศ ทั้งประเทศที่อยู่ใกล้แค่หลับหนึ่งตื่นก็ไปถึง หรือประเทศที่อยู่ไกลคนละฝั่งของโลกใบนี้ บางคนเดินทางเพื่อไปชมธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ บางคนเดินทางเพื่อไปชิมอาหารรสเลิศจากประเทศต้นตำหรับ หรือบางคนเดินทางเพื่อเติมเต็มหัวใจให้กับตนเองและคู่ชีวิต สำหรับผม เหตุผลที่ผมเดินทางในครั้งนี้ ไม่ใช่เพื่อไปพักผ่อน ไม่ใช่เพื่อไปถ่ายรูปสวยๆ หรือไปเพื่อตามของกินแปลกๆ ผมไปเพราะผมจะไปวิ่ง 42.195 กิโลเมตรสถานที่ที่ผมจะไปวิ่งครั้งนี้คือ โตเกียว ครับ ใครๆ ก็รู้ว่าโตเกียวคือนอกจากจะเป็นหนึ่งในเมืองหลวงที่แออัดที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และยังเป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวทั่วโลก ต่างใฝ่ฝันที่จะเดินทางมาเยี่ยมชมเมืองหลวงแห่งนี้สักครั้งหนึ่งในชีวิต 

บนโลกใบนี้มีงานวิ่งมาราธอนที่เป็นสุดยอดความฝันของเหล่ามาราธอนเนอร์ทั้งหลายที่ต่างปราถนาจะเข้าร่วม หรือที่เรียกว่างาน World Major Marathon อยู่ 6 สนามครับ  สนามวิ่งส่วนมากจะอยู่ที่ยุโรปและอเมริกา เช่น Boston, New York, Chicago, Berlin, London แต่มีอยู่หนึ่งสนามที่อยู่แถบเอเชียก็คือที่ Tokyo ความพิเศษของโตเกียวมาราธอน 2019 ก็คือเป็นอีเวนท์ซ้อมใหญ่ของโตเกียวโอลิมปิก 2020 ครับ มีอาสาสมัครนับพันที่ร่วมงานนี้ ด้วยความเป็นญี่ปุ่น แน่นอนว่าเขาจัดทำรายการนี้กันอย่างสุดพลังแน่ๆ!!

มันจึงเป็นสิ่งที่น่าไปลองทำสักครั้งหนึ่งในชีวิต” 

ในเมื่อมีงานเมเจอร์ที่อยู่ใกล้ประเทศเราขนาดนี้ และได้วิ่งกลางถนนผ่านย่านเจ๋งๆ ชั้นในของโตเกียว แล้วมีเหตุผลอะไรที่นักวิ่งอย่างผมจะไม่ไปละครับปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่าจะไปหรือไม่ไปครับ ไม่ใช่ว่าปีนี้เราอยากไป แล้วเราก็สมัครไป บินไปวิ่งได้เลย ของที่มีคุณค่ามักจะต้องแลกมาด้วยความยากลำบากครับ ปัญหาหลักของการไปวิ่งงานเมเจอร์เรื่องของความน่าจะเป็นที่จะได้เข้าไปร่วมวิ่งครับ อย่างที่บอก ใครๆ ก็อยากไปวิ่ง ใครๆ นี่ผมหมายถึงนักวิ่งทั่วทั้งโลกนะครับ โตเกียวมาราธอนสามารถรับนักวิ่งได้อยู่ที่ 38,000 คน แต่มีคนสมัครมากถึง 400,000 คนในแต่ละปี คิดเป็นสัดส่วนง่ายๆคือ 1:10 ครับ ถ้าวันนี้เรารวมกลุ่มกับเพื่อนไปวิ่งโตเกียว 10 คน อาจจะมีแค่เพื่อนเราคนเดียวเท่านั้นที่ได้ไปวิ่ง (คนไทยได้เฉลี่ยปีละ 400-500 คน)

ใช้ดวงล้วนๆ ฝีเท้าไม่เกี่ยว

และผมก็เป็นหนึ่งในคนที่โชคดีที่อยู่ในกลุ่ม 38,000 คนนั้นครับหลังจากได้โอกาสวิ่ง ต่อไปก็เป็นเรื่องของการฝึกซ้อมครับ ผมต้องซ้อมวิ่งสั้น ซ้อมวิ่งยาว ซ้อมวิ่งอินเทอร์วอลสลับกันไปในแต่ละสัปดาห์ แต่ผมมีเรื่องอื่นให้ซ้อมอีกครับคือ ต้องซ้อมแต่งงาน!! ผมแต่งงานสองเดือนก่อนถึงวันวิ่งครับ ทำให้การซ้อมต้องหยุดชะงักลงเพื่อไปทำเรื่องที่สำคัญกว่าในชีวิต จากซ้อมระยะรวมได้เดือนละ 200 กิโลเมตร กลายเป็นระยะรวม 20 กิโลเมตร (วิ่ง 10 กิโลเมตรสองครั้ง) ภายในสองเดือน และเป็นสองเดือนสำคัญก่อนวิ่งครับ แถมเจ็บอีก ในเมื่อร่างกายไม่พร้อม ผมก็ใช้ใจสิครับ ใจล้วนๆ ขาไม่เกี่ยวเลยระบบการจัดการรับ bib ถือว่ายอดเยี่ยมมาก แค่โชว์หนังสือเดินทาง เดินตามเส้นทางที่กำหนด ใช้เวลาไม่ถึงสิบนาที ก็จะได้รับ bib เสื้อวิ่ง พร้อมสแกนใบหน้าเพื่อตรวจสอบนักวิ่งด้วยครับ หลังจากรับ bib ต่อไปก็ถึงเวลาล้มละลายในงาน expo ครับ เพราะเราจะเจอรองเท้าวิ่งยี่ห้อ asics ที่มีให้เลือกทุกรุ่นและทุกขนาด พร้อมทั้งรุ่น Tokyo marathon limited edition ยังไม่นับเสื้อวิ่ง และอุปกรณ์วิ่งอีกมากมายที่หาไม่ได้ตามท้องตลาด มีหมื่นหมดหมื่น มีแสนหมดแสนครับ จับบัตรเครดิตที่มันสั่นให้ดีๆ ครับ เพราะมันพร้อมที่จะถูกใช้งานทุกเมื่อสภาพวันวิ่งค่อนข้างเลวร้ายครับ สภาพฝนตกพรำๆ ท่ามกลางอุณหภูมิ 4 องศา แถมด้วยลมพัดมาโชยๆบ้าง โหมกระหน่ำเหมือนพายุย่อมๆบ้าง พัดมาทีเหมือนเรากำลังจะกลายเป็นหมีขาวที่อยู่ในขั้วโลกเหนือ นักวิ่งล้วนแล้วแต่ต้องใส่เสื้อแขนยาวและใส่เสื้อกันฝนคลุมเพื่อรักษาอุณหภูมิร่างกายไว้ตลอดเวลา ใครขี้หนาวขึ้นมาหน่อยก็จะใส่ผ้าพันคอกับกางเกงวอร์มทับกางเกงวิ่งมาอีกหนึ่งชั้นสำหรับผมครับ เสื้อแขนยาว heat tech ทับด้วยเสื้อยืด กางเกง 2xu ผ้าบัฟพันคอ หมวกแก๊ป แว่นกันแดด ตบท้ายด้วยเสื้อกันฝนกับถุงมือที่ไม่ได้ช่วยให้มืออุ่นขึ้นเลยคงจะมีไม่กี่คนบนโลกใบนี้ครับ ที่ได้มีโอกาสวิ่งอยู่กลางถนนใจกลางชินจูกุ ผ่านหน้าวัดเซนโซจิที่อาซาคุสะ เรียบแม่น้ำสุเมดะ ขึ้นมาที่อูเอะโนะ ลงไปที่ซึกิจิ ผ่ากลางถนนย่านกินซ่า มีวิวเป็นตึกแบรนด์เนมชั้นนำรายล้อมเป็นกองเชียร์ทั้งสองข้าง และมุ่งหน้าเข้าสู่ imperial palace ที่เป็นเส้นชัยของการวิ่งครั้งนี้  โดยที่ไม่มีรถแม้แต่คันเดียวอยู่บนถนนเหล่านี้ แถมยังมีกองเชียร์มากมายไม่ว่าเป็นคุณป้าชาวญี่ปุ่นคอยเต้นระบำส่งแรงให้นักวิ่ง กองเชียร์ลีดเดอร์สาวสวยส่งเสียงเชียร์เป็นกำลังใจและชมรมเชียร์ที่ตีกลองโบกสะบัดสร้างจังหวะในการวิ่ง และอาหารอีกมากมายจากผู้คนสองข้างทาง กระจายไปตลอดเส้นทางกว่า 43 กิโลเมตรคงจะมีไม่กี่ครั้งในชีวิตนี้ ที่จะได้ลงวิ่งในสนามเดียวกับนักวิ่งระดับโลก ที่ต่างคนต่างก็หวังที่จะเป็นผู้ชนะและทำสถิติใหม่ และได้เห็นนักวิ่งระดับโลกวิ่งไล่กวดกันในระยะที่ใกล้มาก พร้อมด้วยเสียงเชียร์มากมายของเจ้าถิ่นที่ส่งเสียงเชียร์นักกีฬาประเทศของตนเอง (ที่ได้เห็นเพราะเค้าวิ่งสวนมาครับ วิ่งกันเร็วถึงขนาดที่สัมผัสลมพัดตามแรงวิ่งได้ นับว่าเป็นความโชคดีของผมครับที่วิ่งช้า)คงเป็นวันเดียวในรอบปี ที่ถนนในกรุงโตเกียว จะเต็มไปด้วยคำว่ากัมบัตเตะเนะหรือ “Fighto” ที่แปลเป็นภาษาไทยว่าสู้ๆ นะในสภาพอากาศที่นักวิ่งล้วนแต่หนาวสั่นจนมือแข็ง เรียกร้องขอผ้าห่มอุ่นตลอดเวลา แม้แต่ผมเองก็ยังอยากจะเลิกวิ่ง หันไปเข้าร้านราเมงร้อนๆ แล้วกลับไปแช่ออนเซ็นอุ่นๆให้สบายตัว แต่ผู้คนในกรุงโตเกียวยังคงยืนหยัด ส่งเสียงเชียร์ ตีมือ (Touch) ให้กำลังใจกับนักวิ่ง ท่ามกลางสายฝนที่ตกหนักขึ้นเรื่อยๆ ลมแรงขึ้นเรื่อยๆ ฟ้าเริ่มมืด อุณหภูมิยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง พื้นที่ตรงไหนที่ยังไม่ถึงเวลาคัทออฟ ก็จะยังคงมีกองเชียร์ส่งเสียงกัมบัตเตะเนะอยู่ที่นั่นสภาพผมนะเหรอครับ ก็เละเทะตามสภาพครับ ไม่มีคำว่าฟลุ๊คสำหรับมาราธอนครับ ซ้อมมาเท่าไร ก็ทำได้เท่านั้น ผมรู้ตัวอีกทีว่ามีขาอยู่ก็หลังเส้นชัยแล้วครับหลายครั้งที่ขาผมบอกให้เลิก หลายครั้งที่สมองของผมขอร้องให้เลิกวิ่งเถอะ ไปหาอะไรกินร้อนๆ กัน หลายครั้งที่ผมเกือบจะยอมแพ้กับตัวเอง หันหลังกลับจะเดินไปหา sweeper ก็หลายครั้ง แต่ด้วยกำลังใจของคนที่รอผมอยู่ปลายเส้นชัย และกำลังใจที่ทั้งเมืองโตเกียวส่งมาให้นักวิ่ง ทำให้นักวิ่งกว่าสามหมื่นคนสามารถชนะใจตัวเอง เข้าเส้นชัย 42.195 ท่ามกลางสภาพอากาศอันเลวร้ายได้

มาราธอนนี้ใช้ใจล้วนๆ ขาไม่เกี่ยว

 


 

…เดี๋ยวๆๆๆ ยังไม่จบครับ

ท้ายนี้ยังมีเรื่องเรื่องเล่าสะกิดติ่ง จากทริปโตเกียว มาราธอน มาให้ฟังกัน หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับทุกท่านนะครับ ^^

7 เรื่องเล่าสะกิดติ่งจากทริปโตเกียวมาราธอน

By หมอคิม

  • มันฝรั่งทอดสดๆ ของยี่ห้อคาลบี้อร่อยมาก อร่อยจนอยากจะไปต่อคิวกินอีกรอบเลย (Calbee Plus Harajuku Takeshita Street)
  • อย่าไปซื้อของที่ระลึกใน Studio Ghibli Museum เพราะมีน้อยและแพง ไปหาตามชั้นบนๆของร้าน Don Quixote ก็มี ได้ลดภาษีด้วย
  • จะหารองเท้า limited อย่าไปหาตามร้านใหญ่ๆ เช่น ชินจูกุ ให้ไปหาร้านย่อยๆ แทน เพราะไม่มีใครรู้ มันเลยจะเหลือๆ (ไม่ก็ไปขอให้สาขาใหญ่สืบๆให้ได้)
  • คุณลุง คุณป้าชาวญี่ปุ่น เป็นปีศาจ อย่าได้คิดเทียบชั้นวิ่งเกาะเป็นอันขาด มีร่วงได้ง่ายๆ
  • หลังวิ่งเสร็จให้ใส่เสื้อโตเกียวมาราธอน เพราะจะมีคนมาชวนคุยด้วยตลอดทางจนออกจากญี่ปุ่น
  • วัฒนธรรมการกินของญี่ปุ่น คือ one person, one dish ฉะนั้น เตรียมท้องให้ดีๆ ก่อนที่จะสั่งอะไร เพราะอาหารแต่ละจานมันใหญ่มาก
  • ห้ามจองห้องพักชั้นสี่ที่ไม่มีลิฟท์ ถ้าไม่อยากรู้ว่า ทรมานปางตายหลังวิ่งมาราธอนเป็นอย่างไร <3