อาหารพื้นบ้านจานเด็ดอย่างหนึ่งของชาวล้านนา ซึ่งมีรสชาติเป็นที่ติดอกติดใจกันทั่วไปในหมู่ชาวไทยล้านนาและคนภาคอื่น ๆทั่วประเทศไทยนั่นคือ ไส้อั่ว คำว่า อั่ว ในภาษาล้านนา หมายถึง แทรก หรือยัดไว้ตรงกลาง ไส้อั่ว จึงหมายถึงไส้ที่มีการนำสิ่งของมายัดไว้ การทำไส้อั่วนิยมใช้ไส้หมูและเนื้อหมู ซึ่งในอดีตเมื่อถึงยามเทศกาลหรือเมื่อมีการจัดงานใดๆ ถ้ามีการล้มหมู มักมีเนื้อหมูเป็นจำนวนมาก จนบางครั้งนำมาทำเป็นอาหารไม่ทันก็อาจเกิดการเน่าเสียได้  จึงมีแนวคิดในการนำเอาเนื้อหมูเหล่านั้นมาถนอมอาหารโดยการตากแห้งหรือย่างไฟ หรือนำมาประกอบอาหารที่สามารถเก็บไว้กินได้นานๆ เข่น การทำแหนม เป็นต้น ในการทำไส้อั่วก็เช่นกัน ถือเป็นการทำอาหารที่สามารถเก็บไว้กินได้นาน 1-2 วัน  นอกจากนี้ ยังเป็นการนำเศษเนื้อ และเครื่องในพวกไส้ต่าง ๆ มาทำให้เกิดประโยชน์ด้วย นอกจากนี้ อาจนำหมูที่ผสมแล้ว ปั้นเป็นก้อนแล้วทอด โดยไม่บรรจุในไส้ก็ได้

 

“มาลองทำไส้อั่วกันดู”

ส่วนประกอบ

-หมูสันคอ บดละเอียด 1 กิโลกรัม

-ไส้หมู(เลือกขนาดเล็ก ล้างให้สะอาด) 1/3 กิโลกรัม

-พริกแห้ง 5 เม็ด

-รากผักชี 2 ช้อนโต๊ะ

-ผิวมะกรูดหั่นละเอียด 1 ช้อนชา

-ใบมะกรูดหั่นฝอย 2 ช้อนโต๊ะ

-ตะไคร้หั่นฝอย 3 ช้อนโต๊ะ

-หอมแดง 5 หัว

-กระเทียม 2 หัว

-กะปิ 2 ช้อนชา

-เกลือ 1 ช้อนชา

 

วิธีทำ

1.นำเครื่องแกงทั้งหมดมาโขลกให้ละเอียด

2.ผสมเครื่องแกงกับเนื้อหมูที่บดไว้ให้เข้ากันแล้วใส่ใบมะกรูดเคล้าให้ทั่ว

3.นำส่วผสมที่ได้จากข้อ2บรรจุใ่ในไส้ ระวังอย่าให้แน่นนัก แล้วมัดเป็นท่อนๆ

4.นำไทอดหรือปิ้งให้สุก

 

เคล็ดลับในการปรุง/เลือกส่วนผสม

-ขณะที่นำไส้อั่วย่างไฟ ให้ใช้ไม้จิ้มเพื่อระบายอากาศ เพื่อไม่ให้ไส้แตก

-ย่างกับถ่านไม้ ไส้อั่วจะมีกลิ่นหอมชวนรับประทาน