จ.ลำปาง แถลงผลการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 63 ตามแนวทางคนลำปางมีน้ำกินน้ำใช้ ไม้ผลไม่ยืนต้นตาย  และอนาคตเตรียมผันน้ำขุมเหมือง มาใช้แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำระยะยาว

เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2563  ที่ห้องประชุมชั้น 4 สำนักงานชลประทานที่ 2 อำเภอเมืองลำปาง  จังหวัดลำปาง นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง พร้อมด้วยนายสิธิชัย  จินดาหลวง รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง  พร้อมด้วย นายปรีชา จานทอง ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 2  และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมแถลงผลการดำเนินงานด้านภัยแล้งและสถานการณ์น้ำของจังหวัดลำปาง       ในการแถลงข่าวได้มีการสรุปผลภาพรวมการดำเนินงานทั้ง 3 ระยะ ประกอบด้วย ระยะสั้น/ระยะเร่งด่วน น้ำอุปโภค – บริโภค พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลน จำนวนทั้งสิ้น 281 หมู่บ้าน ทางศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งจังหวัดลำปาง ได้เร่งให้ความช่วยเหลือในพื้นที่ “เสี่ยงมาก” จำนวน 4 หมู่บ้าน และ “เสี่ยงปานกลาง” จำนวน 45 หมู่บ้าน ผ่านการประสานส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ สนับสนุนรถบรรทุกน้ำ เพื่อแจกจ่ายให้แก่ราษฎรมาอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนแจกจ่ายถังเก็บน้ำขนาด 200 ลิตร เพื่อให้ราษฎรใช้ในการเก็บน้ำไว้ใช้อุปโภคบริโภค

ในส่วนของไม้ผลเสี่ยงยืนต้นตาย จังหวัดลำปางมีพื้นที่เสี่ยงไม้ผลยืนต้นตาย จำนวน 19,604 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงสีแดง (วิกฤติ) 2,219.75 ไร่ ทางศูนย์ฯ จึงได้ลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าวอย่างเร่งด่วน โดยมีการแจกจ่ายน้ำ ให้ความรู้ในการทำระบบน้ำหยดด้วยขวดพลาสติก การปลูกพืชผักสวนครัวเพื่อวัดความชุ่มชื้นในดิน การตัดแต่งกิ่ง การใช้สารชีวภัณฑ์ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชให้กับเกษตรกรเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เป็นต้นมาจนทำให้ปัจจุบันไม่พบพื้นที่ ที่ประสบปัญหาแล้ว

ด้านการจัดสรรน้ำจากเขื่อนกิ่วลม เพื่อแก้ปัญหาลุ่มน้ำวังตอนล่างใน 5 อำเภอ 30 ตำบล ซึ่งจังหวัดลำปางมีพื้นที่ขาดแคลนน้ำ และพื้นที่เสี่ยงไม้ผลยืนต้นตาย กระจายในพื้นที่ 9 อำเภอคือ อำเภอวังเหนือ อำเภอแจ้ห่ม อำเภอเมืองลำปาง อำเภอแม่เมาะ อำเภอห้างฉัตร อำเภอเกาะคา อำเภอสบปราบ อำเภอเถิน และอำเภอแม่พริก โดยมีพื้นที่แล้งวิกฤติทางตอนใต้ของจังหวัด จึงได้กำหนดให้มีการผันน้ำลงสู่แม่น้ำวัง จากแหล่งน้ำต้นทุน จำนวน 2 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำกิ่วลม และอ่างเก็บน้ำแม่ฟ้า รวม 10 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อช่วยเหลือพื้นที่ด้านท้ายน้ำของแม่น้ำวัง โดยเริ่มระบายน้ำในวันที่ 17-21 เมษายน 2563 ทำให้มีพื้นที่ได้รับประโยชน์จากการระบายน้ำครั้งนี้ จำนวน 5 อำเภอ รวม 30 ตำบล รวมทั้งการประปาส่วนภูมิภาค สาขาเถิน สามารถเก็บกักไว้สำหรับผลิตน้ำประปาได้จนถึงเดือนกรกฎาคม 2563

ในส่วนของระยะปานกลาง และระยะยาวนั้น จังหวัดลำปาง ได้มีแนวคิดที่จะใช้ประโยชน์จากขุมเหมือง ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาและเตรียมนำโมเดลการนำน้ำจากขุมเหมืองมาใช้ประโยชน์ เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ในลักษณะการขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการในการทำ CSR ซึ่งพื้นที่จังหวัดลำปางมีขุมเหมืองอยู่ ประมาณ 10 ขุมเหมือง โดยดำเนินโครงการนำร่อง (Pilot Project ) เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่อย่างยั่งยืนต่อไป

ทั้งนี้ในปัจจุบัน จ.ลำปาง ยังไม่มีพื้นที่ประกาศภัยแล้ง แม้จะอยู่ในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ และมีไม้ผลยืนต้นที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงกว่า 19,000 ไร่ แต่ผลจากการเตรียมความพร้อมรับมือล่วงหน้า  โดยการบูรณาการในทุกภาคส่วนที่ร่วมกันบริหารจัดการน้ำอย่างถูกต้องเหมาะสม มีการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล มีการบริหารทรัพยากรน้ำ ตลอดจนน้ำผิวดินและน้ำใต้ดิน มีการอนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งน้ำให้คงอยู่และมีใช้อย่างยั่งยืน

 

สำหรับด้าน สำนักงานชลประทานที่ 2  นายปรีชา จานทอง ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 2 ได้สรุปสถานการณ์น้ำในเขตจังหวัดลำปาง โดยปัจจุบันปริมาณน้ำในเขื่อนใหญ่  2 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำกิ่วลมและอ่างเก็บน้ำกิ่วคอหมา มีปริมาณน้ำรวมกัน 70.92 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 25.65 ของความจุอ่างเก็บน้ำที่ระดับเก็บกักปกติ ปริมาณน้ำน้อยกว่าปี 2562 ณ เวลาเดียวกัน 14.49 ล้านลูกบาศก์เมตร (ณ 20 กรกฎาคม 2562 มีปริมาณน้ำ 85.41 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 30.89) อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 29 แห่ง มีปริมาณน้ำรวมกัน 32.50 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 20.57 ของความจุอ่างเก็บน้ำที่ระดับเก็บกักปกติ อ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก 103 แห่ง มีปริมาณน้ำรวมกัน 17.70 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 30.48 ของความจุอ่างเก็บน้ำที่ระดับเก็บกักปกติ

จะเห็นได้ว่าปริมาณน้ำทั้งอ่างขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่ผ่านมา ปริมาณน้ำจะมีค่าเฉลี่ยต่ำ เนื่องจากปริมาณฝนที่ตกในปีนี้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 20 และมีน้ำไหลลงอ่างค่อนข้างน้อย จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ได้ประกาศว่าปลายเดือนกรกฎาคม – กันยายน ฝนจะตกเข้าเกณฑ์ปกติ  ดังนั้นหากฝนตกเข้าเกณฑ์ปกติปริมาณน้ำที่จะไหลเข้าอ่างขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก  จะเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้  คือมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างมากกว่า ปี 2562

อย่างไรก็ตาม สำหรับน้ำเพื่อการอุปโภคและรักษาระบบนิเวศ สำนักงานชลประทานที่ 2 จะบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอกับความต้องการของประชาชนในจังหวัดลำปางได้อย่างแน่นอน