เส้นทางที่ 7 Slow Life Green Chill @เมืองลำพูน มีแหล่งท่องเที่ยว 11 แหล่ง

1.วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร
2.อนุสาวรีย์พระนางจามเทวี
3.พิพิธภัณฑ์แห่งชาติหริภุญไชย
4.พิพิธภัณฑ์ชุมชนเมืองลำพูน
5.หมู่บ้านหัตถกรรมผ้าฝ้ายเวียงยองและขัวมุงท่าสิงห์
6.วัดมหาวัน
7.วัดจามเทวี
8.วัดสันป่ายางหลวง
9.วัดพระยืน
10.กู่ช้าง-กู่ม้า
11.อนุสาวรีย์
ครูบาศรีวิชัย(ดอยติ)

 

“วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร” อ.เมือง จ.ลำพูน เป็นวันที่มีพระธาตุที่ใหญ่และโดดเด่นอยู่กลางอำเภอเมืองลำพูน และยังเป็นพระธาตุประจำของคนเกิดปีระกา นักท่องเที่ยวที่มาจะได้เห็นความงามของพระธาตุสีเหลืองอร่ามและบรรยากาศในวัดร่มรื่น มีวิหารหลังใหญ่ ในวันวิสาขบูชาของทุกปี จะมีงานนมัสการและสรงน้ำพระธาตุ หรือที่รู้จักในชื่อประเพณีแปดเป็ง และตักบาตรพระอุปคุต จะมีนักท่องท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ มาร่วมงานกันอย่างเนืองแน่นเลยทีเดียว

 

“อนุสาวรีย์พระนางจามเทวี” อ.เมือง จ.ลำพูน เป็นจุดแวะพักของนักท่องเที่ยวที่มาเยือน จ.ลำพูน เพื่อสักการะและขอพรปฐมกษัตรีย์แห่งนครหริภุญชัย พระนางทรงเป็นปราชญ์ที่มีคุณธรรม เป็นนักรบที่มีความสามารถและกล้าหาญชาญชัย พร้อมทั้งนำพระพุทธศาสนาและศิลปวัฒนธรรมมาเผยแพร่ในดินแดนแถบนี้ จนรุ่งเรื่องสืบมาจนถึงปัจจุบัน

 

“พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชย” อ.เมือง จ.ลำพูน เป็นสถานที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุและศิลปวัตถุที่ได้มาจากวัดสำคัญและแหล่งโบราณคดีในจังหวัดลำพูน จำนวนกว่า 3,000 ชิ้น ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นที่รวบรวมและจัดแสดงศิลปะโบราณวัตถุที่มีอยู่มากมายในภาคเหนือของประเทศไทยอีกแห่งหนึ่ง โดยมหาอำมาตย์โท พระยาราชนกุลวิบูลย์ภักดี (อวบ เปาโรหิต) สมุหเทศาภิบาล มณฑลพายัพ เป็นผู้ริเริ่มการนี้มาตั้งแต่พ.ศ. 2470 ซึ่งในช่วงเวลานั้น เริ่มมีการมองเห็นคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรมมากขึ้น กิจการพิพิธภัณฑสถาน ซึ่งเริ่มจากในพระราชสำนักในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนกระทั่งได้เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์สำหรับประชาชนขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพ.ศ. 2417 มีผลให้เกิดพิพิธภัณฑสถานอื่นๆขึ้นอีกหลายแห่งในประเทศ รวมทั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย แห่งนี้

 

“พิพิธภัณฑ์ชุมชนเมืองลำพูน” อ.เมือง จ.ลำพูน เป็นพิพิธภัณฑ์ที่นำเสนอประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของเมืองลำพูน โดยใช้คุ้มเจ้าราชสัมพันธ์วงษ์ลำพูน คุ้มเจ้าเมืองลำพูน อายุกว่า 95 ปี เป็นที่จัดแสดง พื้นที่จัดแสดงมี 4 ส่วนหลัก ได้แก่

1.พื้นที่ชั้นล่างอาคาร จัดแสดงประวัติคุ้มเจ้าราชสัมพันธ์วงษ์ ครั้งสมัยเจ้าราชสัมพันธวงษ์ ได้พำนักพร้อมครอบครัว บริวาร การเปลี่ยนแปลงด้านการใช้งานของคุ้มตั้งแต่อดีตจนกระทั่งมากลายเป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชนเมืองในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังนำแผนที่เก่ามาขยาย แสดงให้เห็นพัฒนาการของเมือง และภาพถ่ายเก่าที่สะท้อนเหตุการณ์ต่างๆ ของเมืองลำพูน ตั้งแต่ครั้งปลายพุทธศตวรรษที่ 24 ภาพถ่ายเกี่ยวกับประเพณี พิธีกรรม และเกร็ดความรู้เกี่ยวกับการประกวดนางงาม

2.พื้นที่ด้านหลังอาคาร เป็นการจำลองโรงภาพยนตร์เก่าของลำพูน ที่ใช้ชื่อว่า “หริภุญชัยรามา” และจำลองห้องเรียนที่ใช้ในการเรียนการสอนระดับประถมศึกษาในอดีต

3.พื้นที่ชั้นสอง เป็นพื้นที่เปิดโล่ง ใช้ทำกิจกรรมต่างๆ ของพิพิธภัณฑ์ เช่น การสอนดนตรี พิณเปี๊ยะ แก่เยาวชนและผู้สนใจ ฝาผนังประดับภาพของพ่ออุ้ยที่เคยเล่นพิณเปี๊ยะ มีภาพที่น่าสนใจ คือ ภาพของนักวิจัยชาวอเมริกันที่เข้ามาศึกษาเรื่องพิณเปี๊ยะเมื่อ 40 กว่าปีที่ผ่านมา

4.พื้นที่แสดงกลางแจ้งนอกอาคาร ได้แก่ ลานวัฒนธรรมที่ใช้ประกอบกิจกรรมทางวัฒนธรรม รวมถึงร้านค้าจำลองในแบบเมืองลำพูน ที่ขายข้าวของกินของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ร้านกาแฟ ร้านขายของชำ ร้านถ่ายรูป

 

“หมู่บ้านหัตถกรรมผ้าฝ้ายเวียงยองและขัวมุงท่าสิงห์” อ.เมือง จ.ลำพูน ตั้งอยู่บริเวณบ้านศรีเมืองยู้ ตำบลเวียงยอง ตรงข้ามวัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร เที่ยวชมวิถีชีวิตชาวบ้านในเส้นทางถนนสายวัฒนธรรมชุมชนเวียงยอง หมู่บ้านผลิตผ้าฝ้ายโดยฝีมือชาวบ้าน ผ้าที่ผลิตจะเป็นผ้าฝ้ายและผ้าไหมยกดอก รวมถึงผลิตภัณฑ์จากฝ้ายอื่น ๆ เป็นเส้นทางที่เหมาะกับการเดินเท้า หรือนั่งรถสามล้อถีบ ชมสถานที่ท่องเที่ยวในหมู่บ้านอาทิ วัดต้นแก้ว พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ศูนย์ทอผ้าพื้นเมือง เป็นต้น ภายในชุมชนยังมีขัวมุงท่าสิงห์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ OTOP อาทิ ผ้าฝ้ายยกดอกลำพูน สินค้าตกแต่งบ้าน เครื่องประดับ เป็นต้น

 

“วัดมหาวัน” อ.เมือง จ.ลำพูน ต้นกำเนิดพระรอดลำพูน 1 ในพระเครื่องชุดเบญจภาคี ( พระสมเด็จวัดระฆัง พระรอดมหาวัน พระนางพญา พระผงสุพรรณ และพระซุ้มกอ ) เป็นพระพิมพ์ที่ถูกจัดให้อยู่สูงสุดของพระสกุลลำพูน และวัดแห่งนี้เคยเป็นพระอารามหลวง ของพระนางจามเทวี ปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรหริภุญชัย

 

“วัดจามเทวี” อ.เมือง จ.ลำพูน หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า วัดกู่กุด เป็นวัดเก่าแก่ที่สำคัญมาตั้งแต่สมัยล้านนาไทย มีความสำคัญทั้งทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. 1298 โดยฝีมือช่างละโว้ ตามหลักฐานที่ได้พบศิลาจารึกเชื่อว่า พระราชโอรสของพระนางจามเทวี คือพระเจ้า
มหันตยศ และพระเจ้าอนันตยศ โปรดให้สร้างวัดนี้ขึ้นเพื่อถวายพระเพลิง แล้วโปรดให้สร้างเจดีย์เหลี่ยมมียอดหุ้มด้วยทอง เรียกชื่อว่า สุวรรณจังโกฏิ พระเจดีย์สุวรรณจังโกฏิ หรือพระเจดีย์จามเทวี เป็นเจดีย์สี่เหลี่ยมแบบ พุทธคยาในประเทศอินเดีย แต่ละด้านมีพระพุทธรูปยืนเป็นปางประทานพรอยู่เป็นชั้นๆ ภายในพระเจดีย์บรรจุอัฐิของพระนางจามเทวี ปฐมกษัตริย์ แห่งนครหริภุญชัย

ต่อมานานนับพันปี “สุวรรณจังโกฏเจดีย์” ชำรุดผุพัง ยอดพระเจดีย์ได้หัก และหายไป กลายเป็นวัดร้างและชาวบ้านได้เรียก วัดนี้ว่า “วัดกู่กุด” (กู่ กุด เป็นภาษาล้านนา แปลว่า เจดีย์ยอดด้วน) ในปี พ.ศ. 2469 สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้เสด็จเยี่ยมวัดแห่งนี้ จึงได้โปรดให้เปลี่ยนชื่อจาก “วัดกู่กุด” เป็น “วัดจามเทวี” เช่นเดิม และในปี พ.ศ. 2479 เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ ผู้ครองนครลำพูนได้ไป นิมนต์ครูบาศรีวิชัย ช่วยบูรณะวัดจามเทวีอีกครั้งหนึ่ง นับตั้งแต่นั้นมาวัดจามเทวีก็เจริญรุ่งเรือง ถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์โบราณคดีที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย

 

“วัดสันป่ายางหลวง” อ.เมือง จ.ลำพูน ที่ประดิษฐานพระหยกเขียวซึ่งนำมาจากแม่น้ำโขง วัดเล็กๆ ที่มีพื้นที่ไม่กว้างใหญ่มากนัก แต่เต็มไปด้วยสถาปัตยกรรมที่สุดแสนจะวิจิตรอลังการ ติด 1 ใน 5 วัดที่สวยที่สุดในประเทศไทย โดยเฉพาะวิหารพระโขงเขียว มีการแกะสลักลายปูนปั้นที่สร้างไว้ในพระวิหารอย่างวิจิตรสวยงามยิ่ง

วัดนี้เดิมชื่อ “วัดขอมลำโพง” สร้างขึ้นในปี พ.ศ.1074 โดยชาวบ้านพร้อมใจกันสร้างขึ้นเพื่อถวายไว้ในบวรพุทธศาสนา นับเป็นวัดแห่งแรกในพุทธศาสนาของแคว้นล้านนา หลังจากสร้างเสร็จจึงได้มีการอัญเชิญพระอัฐิธาตุของ“พระสารีบุตร” และ “พระโมคคัลลานะ” มาบรรจุไว้ ณ ที่เจดีย์ของวัดสันป่ายางหลวง ต่อมากลายเป็นวัดร้าง จนมาถึงสมัยของพระนางจามเทวี จึงได้มีการฟื้นฟู และมีการกำหนดเขตธรณีสงฆ์ขึ้นใหม่ พร้อมกับประทานชื่อวัดใหม่ว่า “วัดอาพัฒนารามป่าไม้ยางหลวง” หรือเรียกง่ายๆ ว่า “วัดสันป่ายางหลวง” ในอดีตเป็นสถานที่ถวายพระเพลิงศพพระนางจามเทวี

 

“วัดพระยืน อ.เมือง จ.ลำพูน อีกหนึ่งวัดเก่าแก่ของลำพูน หากนักท่องเที่ยวเดินเข้ามาจะเห็นพระเจดีย์เป็นทรงมณฑป มีพระพุทธรูปยืนทั้งสี่ทิศ เครื่องบนประกอบด้วยเจดีย์ห้ายอด โดยมีเจดีย์ทรงระฆังและเจดีย์ทรงกลมขนาดเล็กเป็นประธาน คล้ายกับอานันทเจดีย์ที่เมืองพุกาม และพระเจดีย์วัดป่าสัก จังหวัดเชียงรายพระเจดีย์พระยืนเป็นศิลปกรรมพม่า คล้ายกับเจดีย์วัดสัพพัญญูในเมืองพุกาม

 

กู่ช้าง – กู่ม้า อ.เมือง จ.ลำพูน สถานที่ศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองอีกแห่งหนึ่งของชาวลำพูนที่ตั้งอยู่คู่กัน เมื่อต้องการความสมหวังในสิ่งใด ก็มักจะมีคนมาขอพรกันที่นี่ เรียกได้ว่าเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในชุมชน
กู่ช้าง ตามตำนานเล่าว่า สร้างขึ้นเพื่อบรรจุซากพระยาช้าง ชื่อ “ปู่ก่ำงาเขียว” หมายถึงช้างสีคล้ำ งาสีเขียว เป็นช้างคู่บารมีของพระนางจามเทวี ปู่ก่ำงาเขียวเป็นช้างที่มีฤทธิ์มาก เมื่อออกศึกสงคราม เพียงแค่ช้างหันหน้าไปทางศัตรู ก็ทำให้ศัตรูอ่อนแรงลงได้ หลังจากช้างปู่ก่ำงาเขียวล้มเมื่อวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 พระนางจามเทวีโปรดให้นำซากช้างมาฝังไว้ที่นี่ และเนื่องจากเมื่อยังมีชีวิตอยู่เป็นช้างที่มีอิทธิฤทธิ์วิเศษ หากงาช้างชี้ไปทางใดก็จะทำให้เกิดภัยพิบัติผู้คนล้มตาย พระนางจึงโปรดจามเทวีจึงให้สร้างเจดีย์ทรงสูงครอบไว้ โดยให้ปลายงาชี้ขึ้นฟ้า

ส่วน “กู่ม้า” ตั้งอยู่ด้านหลังกู่ช้าง เชื่อกันว่าเป็นที่บรรจุซากม้าทรงของพระเจ้ามหันตยศ พระราชโอรสของพระนางจามเทวี ฐานสี่เหลี่ยม องค์เจดีย์ทรงระฆังคว่ำ ส่วนยอดหักพังทลายลงไปแล้ว ด้านหน้าโบราณสถานกู่ช้างกู่ม้านี้ เทศบาลเมืองลำพูนได้ปรับปรุงให้เป็นสถานที่ พักผ่อนหย่อนใจของคนในชุมชน ชาวลำพูนให้ความเคารพนับถือมาก และยังมีการสร้างศาลเจ้าพ่อกู่ช้างไว้ในทางทิศตะวันออกใกล้กับองค์เจดีย์ด้านหน้า มีรูปปั้นจำลองของปู่ก่ำงาเขียว เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้มาสักการะ ในวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 ของทุกปี จะมีงานรดน้ำดำหัว และบวงสรวงเจ้าพ่อ เพื่อขอขมาลาโทษ และขอพรด้วย

 

“อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย” (ดอยติ) อ.เมือง จ.ลำพูน เป็นอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัยใหญ่ที่สุด ตั้งอยู่บนวัดดอยติลำพูน” ถนนไฮเวย์ลำพูน-เชียงใหม่ ริมทางหลวง และถือเสมือนเป็นประตูเมืองของจังหวัดลำพูน ผู้ที่ขับรถสายนี้ผ่านไป-มา จะเห็นอนุสาวรีย์ พระรูปครูบาศรีวิชัยนั่งสมาธิ เด่นอยู่บนเนินยอดดอย อันนับได้ว่าเป็นพระรูปครูบาศรีวิชัยที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยที่เคยเห็นมา
ครูบาเจ้าศรีวิชัยนักบุญแห่งล้านนา เป็นชาวลำพูนโดยกำเนิด เกิดเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2421 ที่บ้านปาง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เป็นปูชนียบุคคลที่สำคัญอย่างยิ่ง ที่ชาวลำพูน และชาวล้านนาให้ความเคารพนับถือ หลังจากที่จัดพิธีพระราชทานเพลิงสรีระของท่าน ณ วัดจามเทวีแล้ว ได้จัดสร้างสถูปหรือกู่บรรจุอัฏฐิไว้ ณ ที่แห่งนี้ เพื่อให้พุทธศาสนิกชน ได้สักการบูชา โดยได้จัดประเพณีดำหัวกู่ครูบาเจ้าศรีวิชัย มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน