เส้นทางที่ 6 Slow Life Green Chill @เมืองลำปาง มีแหล่งท่องเที่ยว 11 แหล่ง

1.วัดท่ามะโอ
2.วัดประตูป่อง
3.วัดปงสนุก
4.วัดพระแก้วดอนเต้า
5.บ้านหลุยส์
6.วัดศรีรองเมือง
7.พิพิธภัณฑ์ลำปาง(มิวเซียมลำปาง)
8.กาดกองต้า
9.สะพานรัษฎาภิเศก
10.สถานีรถไฟนครลำปาง
11.ห้าแยกหอนาฬิกา

 

“วัดท่ามะโอ” อ.เมือง จ.ลำปาง เป็นวัดศิลปะพม่า มีพระอุโบสถที่สร้างด้วยปูนทั้งหลัง ภายในพระอุโบสถ นอกจากจะเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปศิลปะพม่า ปางมารวิชัยแล้ว ยังมีประวัติวัดท่ามะโอ และ ประวัติของท่านอาจารย์อู ธมฺมานนฺทะ อดีตเจ้าอาวาสวัดท่ามะโอ ให้นักท่องเที่ยวได้ศึกษากันอีกด้วย สำหรับพระวิหารในวัดมีขนาดเล็กประดับตกแต่งด้วยลายปูนปั้น ภายในพระวิหาร เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะพม่า

 

“วัดประตูป่อง” อ.เมือง จ.ลำปาง เป็นวัดเล็กในหมู่บ้านเวียงเหนือ มีวิหารที่มีสถาปัตยกรรมแบบล้านนาพื้นบ้าน ที่ชื่อว่าวัดประตูป่องเนื่องจากวัดนี้ตั้งอยู่บริเวณประตูเมืองเก่าลำปาง คือ ประตูป่อง อันเป็นที่มาของชื่อวัด เมื่อนักท่องเที่ยวมาถึงวัดจะพบซุ้มประตูเข้าวัดที่มีความงดงามด้วยลวดลายปูนปั้นที่อ่อนช้อย วิจิตรมากๆ แบบศิลปะแบบล้านนา ภายในมีเจดีย์และวิหารที่สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2409 โดยเจ้าญาณรังสี ผู้ครองนครลำปาง ส่วนพระอุโบสถเป็นฝีมือช่างสิบสองปันนา จึงผสมผสานศิลปะแบบจีน นอกจากนี้ยังมีประตูเมืองโบราณ (ประตูป่อง) และซากหอรบซึ่งเป็นปราการต่อสู้ข้าศึกสมัยพระยากาวิละ

 

“วัดปงสนุก” อ.เมือง จ.ลำปาง ตั้งอยู่ตำบลเวียงเหนือ สร้างในสมัยพระเจ้าอนันตยศที่เสด็จมาเมืองเขลางค์นคร เมื่อ พ.ศ. 1223 ตามหลักฐานพบว่า วัดปงสนุก มีชื่อเรียกอยู่ 4 ชื่อ คือ วัดศรีจอมไคล วัดศรีเชียงภูมิ วัดดอนแก้ว วัดพะยาว (พะเยา) สิ่งที่น่าสนใจ คือ ม่อนดอย เนินเขาพระสุเมรุจำลองอันเป็นที่ตั้งของวิหารพระเจ้าพันองค์ สร้างด้วยไม้ในลักษณะมณฑปหลังคาซ้อนสามชั้น บนสันหลังคาเหนือมุขทั้งสี่สร้างปราสาทไม้จำลองขนาดเล็กหุ้มด้วยสังกะสีฉลุลาย ซึ่งหมายถึงทวีปทั้งสี่รอบเขาพระสุเมรุ ลักษณะตัวอาคารผสมผสานระหว่างศิลปกรรมล้านนา พม่าและจีน มีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ห้องกลางวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปสี่องค์หันพระพักตร์ออกสี่ทิศ ประทับนั่งใต้โพธิ์พฤกษ์ทำด้วยตะกั่ว ด้านล่างของฐานชุกชีประดับลวดลายรูปช้าง นาค สิงห์ นกอินทรี เชื่อกันว่าวิหารหลังนี้สร้างโดยช่างเชียงแสน เลียนแบบหอคำเมืองเชียงเกี๋ยง (เชียงเจิ๋ง) ในสิบสองปันนา ประเทศจีน ซึ่งไม่มีเหลืออยู่แล้วในปัจจุบัน

 

“วัดพระแก้วดอนเต้า” อ.เมือง จ.ลำปาง เป็นวัดที่เคยประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) ตั้งแต่ พ.ศ. 1979 นานถึง 32 ปี ที่มาของชื่อวัดพระแก้วดอนเต้านั้น ตามตำนานกล่าวไว้ว่า พระมหาเถระแห่งวัดนี้ได้พบแก้วมรกตในแตงโม (ภาษาเหนือเรียกว่า หมากเต้า) และนำมาแกะสลักเป็นพระพุทธรูป ซึ่งต่อมาได้อัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดพระธาตุลำปางหลวงจนถึงปัจจุบัน

 

วัดศรีรองเมือง อ.เมือง จ.ลำปาง เป็นวัดพม่าสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ในปีพ.ศ. 2443 มีสถาปัตยกรรมที่สำคัญได้แก่ วิหารไม้ ซึ่งมีหลังคาจั่วซ้อนกันเป็นชั้นๆ มียอดแหลมแบบศิลปะพม่า 9 ยอด เพดานเป็นไม้แกะสลัก และเสากลมใหญ่จำหลักลวดลายทองประดับด้วยกระจกสีตั้งแต่โคนเสาจนถึงปลายเสา

 

“บ้านหลุยส์” อ.เมือง จ.ลำปาง อยู่ในชุมชนท่ามะโอ บ้านหลุยส์ เก่าแก่มีอายุกว่า 100 ปี เป็นเรือนปั้นหยายื่นมุขแปดเหลี่ยมครึ่งปูนครึ่งไม้ มีการแกะสลักแผ่นไม้เหนือบานประตูอย่างประณีตและสวยงาม ขั้นล่างของบ้านเป็นปูนก่ออย่างหนา ในอดีตเคยเป็นเรือนพำนักของนายหลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ นักธุรกิจค้าไม้ชาวอังกฤษ ผู้ก่อตั้งบริษัทหลุยส์ โทมัส เลียวโนเวนส์ แต่ได้ถูกทิ้งร้างมาเป็นเวลานาน เรือนโบราณหลังนี้ได้รับการบูรณะให้ยังคงความสมบูรณ์สวยงาม ในลักษณะรูปแบบเดิมๆ

 

“พิพิธภัณฑ์ลำปาง” (มิวเซียมลำปาง) อ.เมือง จ.ลำปาง เป็นพื้นที่เรียนรู้อย่างสร้างสรรค์แห่งใหม่จากผลงานความร่วมมือของเทศบาลนครลำปางและสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK park) ที่มุ่งสร้างเสริมการอ่าน และการเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม และประเพณี ตลอดจนปลูกฝังทักษะการเรียนรู้ พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชนชาวลำปางทุกช่วงวัย

 

“กาดกองต้า” อ.เมือง จ.ลำปาง สนุกกับการตะลุย ชม ชิม ช้อป & แชร์ เสน่ห์ตลาดริมน้ำในวันวาน ตรงที่ได้เดินชมบ้านไม้เก่า เรือนแถวโบราณ อาคารพาณิชย์อันทรงเสน่ห์ที่เรียงรายกลายเป็นวิวสุดคลาสสิค สนุกสนานกับการเลือกซื้อสารพัดสินค้า ทั้งของกิน ของใช้ ของสะสมหายากในบรรยากาศวันวานยังหวานอยู่ ใช่แล้ว! ที่นี่เป็นย่านตลาดเก่าตั้งอยู่ขนานกับลำน้ำวัง ในซอยตลาดจีนริมน้ำ มีอาคารโบราณอายุเหยียบร้อยปีบนถนนตลาดเก่าตลอดทั้งสาย ส่วนชื่อ “กาด-กอง-ต้า” เป็นคำล้านนา แปลตามตัวคือ ตลาด-ถนน-ท่าน้ำ ซึ่งถือเป็นถนนสายเศรษฐกิจที่มีความเป็นมาที่เก่าแก่ และมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เคยเป็นตลาดที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เนื่องจากนครลำปางในอดีตเคยเป็นศูนย์กลางทางการค้าของภาคเหนือ ส่วนมากมักเกิดขึ้นริมฝั่งแม่น้ำสายใหญ่อย่างแม่น้ำวัง จนกระทั่งมีการคมนาคมทางบกเข้ามาแทน การค้าทางน้ำจึงลดบทบาทลงไป ด้วยความสำนึกรักบ้านเกิดของคนในชุมชน ร่วมแรงร่วมใจตกแต่งบูรณะฟื้นฟูให้อาคาร บ้านเรือนเก่าๆ กลับมามีชีวิตชีวาขึ้นมาอีกครั้ง จนกลายเป็นถนนสายวัฒนธรรมที่สวยงามมีอัตลักษณ์ ตลอดระยะทางราว 600 เมตร ชวนให้หวนระลึกถึงบรรยากาศเก่าๆในอดีตเมื่อร้อยกว่าปีที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี เปิดทุกวันเสาร์และอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 17.00 น. – 22.00 น.

 

สะพานรัษฎาภิเศก” อ.เมือง จ.ลำปาง เป็นสะพานข้ามแม่น้ำวัง ตั้งอยู่ในเขตตำบลหัวเวียง อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง เดิมเป็นสะพานโครงสร้างไม้ ที่ทางเจ้านรนันทไชยชวลิต เจ้าผู้ครองนครลำปาง และชาวจังหวัดลำปางได้จัดสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติในวาระที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 5 ในโอกาสที่พระองค์ครองราชย์ครบ 25 ปี ในปี พ.ศ. 2437

ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ได้ทาสีพรางตาและด้วยการอ้างว่าสะพานแห่งนี้ไม่มีประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ จึงรอดจากโจมตีทิ้งระเบิดมาได้ หลังจากนั้นได้มีการก่อสร้างใหม่เมื่อเดือนมีนาคม 2460 เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก บริเวณสะพานมีเครื่องหมายไก่ขาว และครุฑหลวงประดับไว้ตรงหัวสะพานสะพานรัษฎาภิเศกภิเษกยังทำหน้าที่สัญลักษณ์ของเมืองลำปาง ในฐานะของ “ขัวสี่โก๊ง(สะพานสี่โค้ง)” “ขัวหลวง (สะพานใหญ่)” “ขัวขาว (สะพานขาว)” ที่เป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ต้องห้ามพลาดเมื่อมาลำปางหนา

 

“สถานีรถไฟนครลำปาง” อ.เมือง จ.ลำปาง สถานที่แห่งนี้เคยผ่านสงครามโลกมาถึง 2 ครั้ง และปัจจุบันยังใช้งานได้อยู่ อาคารสถานีมีรูปทรงแบบยุโรป มีเสารูปโค้ง มีลายไม้ฉลุตามระเบียงและเหนือวงกบประตูหน้าต่าง นับเป็นสถาปัตยกรรมผสมผสานของภาคเหนือและยุโรป ลักษณะอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ ชั้นล่างเป็นตึกที่ดูแข็งแรงมั่นคงส่วนชั้นบนเป็นไม้ สร้างเมื่อปี พ.ศ.2458 ในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) หรือเมื่อ 100 ปีมาแล้ว และเปิดรับขบวนรถไฟโดยสารครั้งแรก เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2459 เป็นเส้นทางผ่านอุโมงค์ขุนตาลสู่นครเชียงใหม่ ระหว่างทางจะผ่านสะพานขาวอีกหนึ่งเอกลักษณ์ของ อ.แม่ทา จ.ลำพูน ที่ทาสีดำอำพรางให้รอดพ้นจากการโจมตีของกลุ่มพันธมิตร สถานีรถไฟนครลำปางแห่งนี้ จึงถูกกำหนดให้เป็นสถานีรถไฟประวัติศาสตร์ และในทุก ๆ ปี ของวันที่ 1 – 5 เมษายน จังหวัดลำปางจะมีการจัดงานรำลึกประวัติศาสตร์รถไฟรถม้านครลำปาง เพื่อรำลึกและให้ลูกหลานได้อนุรักษ์ไว้สืบต่อไป

 

“ห้าแยกหอนาฬิกา” อ.เมือง จ.ลำปาง แลนด์มาร์คลำปาง ที่นักท่องเที่ยวหรือใครๆ มาถึงลำปาง จะต้องมาแวะถ่ายรูป ซึ่งเป็นสถานที่กลางใจเมืองลำปาง มีหอนาฬิกาตั้งอยู่ตรงกลางถนนโดดเด่นสวยงาม อีกทั้งหอนาฬิกาแห่งนี้ยังมีประวัติความเป็นมาบอกเล่าเรื่องราวของลำปางในอดีตได้เป็นอย่างดี