เส้นทางที่ 4 ร้อยโล ร้อยลี้ วิถี New Normal (เกาะคา-เสริมงาม-ลี้) มีแหล่งท่องเที่ยว 16 แหล่ง

1.วัดไหล่หิน อ.เกาะคา จ.ลำปาง
2.โป่งน้ำร้อนเกาะคา อ.เกาะคา จ.ลำปาง
3.หมู่บ้านท่องเที่ยวเซรามิคเกาะคา อ.เกาะคา จ.ลำปาง
4.วิสาหกิจชุมชนกลุ่มสมุนไพรลูกประคบเซรามิกบ้านศาลาบัวบก อ.เกาะคา จ.ลำปาง
5.วัดพระธาตุจอมปิง อ.เกาะคา จ.ลำปาง
6.ร้านกาแฟกางต้ง อ.เกาะคา จ.ลำปาง
7.เขาส่องกระจกวัดทาดอยแก้ว อ.เกาะคา จ.ลำปาง
8.บ้านโต้งคาเฟ่ อ.เกาะคา จ.ลำปาง
9.ตูบแก้วมา อ.เสริมงาม จ.ลำปาง
10.สะพานขัวแตะวัดนางอย อ.เสริมงาม จ.ลำปาง
11.ศูนย์ศิลปาชีพบ้านแม่ต๋ำ อ.เสริมงาม จ.ลำปาง
12.วัดบ้านปาง อ.ลี้ จ.ลำพูน
13.วัดพระพุทธบาทผาหนาม อ.ลี้ จ.ลำพูน
14.วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม อ.ลี้ จ.ลำพูน 15.ชุมชนน้ำบ่อน้อย อ.ลี้ จ.ลำพูน 16.พระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย อ.ลี้ จ.ลำพูน

 

“วัดไหล่หิน” หรือวัดเสลารัตนปัพพตาราม หรือ วัดไหล่หินแก้วช้างยืน หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า วัดไหล่หิน ตั้งอยู่ตำบลไหล่หิน อ.เกาะคา จ.ลำปาง มีพระวิหารเก่าแก่ฝีมือช่างเชียงตุง เป็นศิลปะแบบล้านนาไทย ประดับลวดลายงดงามทั้งหลัง โดยเฉพาะส่วนหน้าบัน และซุ้มประตูที่มีการก่ออิฐถือปูนประดับรูปสัตว์ศิลปะล้านนาแท้ ภายในวิหารนอกจากจะมีพระประธานแล้ว ยังมีรูปปั้นพระมหาเกสระปัญโญภิกขุ ขนาดเท่ารูปจริงซึ่งปั้นด้วยฝีมือของท่านเอง นอกจากนี้ พระเจดีย์ของวัดไหล่หินยังก่อสร้างตามแบบศิลปะล้านนา ซึ่งได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สำหรับคันทวยที่โรงธรรมก็ยังคงเป็นศิลปะล้านนาเช่นกัน กล่าวคือ เป็นรูปคล้ายแผ่นไม้สามเหลี่ยมขนาดใหญ่ แล้วฉลุลายให้โปร่งลอยตัวเป็นรูปต่างๆ กันออกไป ภายในบริเวณวัดจะมีหอพิพิธภัณฑ์โบราณล้านนาวัดไหล่หิน เป็นที่เก็บ หอพระแก้ว ซุ้มพระพิมพ์ อาวุธโบราณ และที่โรงธรรมมีใบลานอายุเกินกว่า 500 ปี จาร (การใช้เหล็กแหลมเขียน) เป็นภาษาบาลีด้วยอักษรไตเหนือ

 

“โป่งน้ำร้อนเกาะคา” อ.เกาะคา จ.ลำปาง บ่อน้ำแร่ร้อน ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 บ้านโป่งร้อน ตำบลใหม่พัฒนา เป็นโป่งน้ำร้อนที่มีอุณหภูมิสูง สามารถต้มไข่สุกได้ อยู่ในความดูแลของ อบต. มีการจัดระบบสิ่งแวดล้อมและปรับปรุงภูมิทัศน์สวยงาม เปิดบริการห้องอาบน้ำแร่และห้องแช่น้ำร้อน เป็นสัดส่วนถูกสุขลักษณะ ตั้งแต่เวลา 07.00-18.00 น.

 

“หมู่บ้านท่องเที่ยวเซรามิคเกาะคา” อ.เกาะคา จ.ลำปาง เป็นหมู่บ้านที่ประกอบอาชีพการทำเซรามิค และเปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชมศึกษาและเรียนรู้การทำเซรามิคในโรงงาน ซึ่งเป็นโรงงานเล็กๆในบ้านของตัวเอง นอกจากนี้บรรยากาศในหมู่บ้าน ยังได้ตกแต่งด้วยงานเซรามิค เช่น กำแพงบ้าน ป้ายหมู่บ้าน หรือของตกแต่งต่างๆ ภายในบ้าน หากนักท่องเที่ยวได้มาเยือนหมู่บ้านท่องเที่ยวเซรามิคแห่งนี้ จะได้สัมผัสความเป็นวิถีชีวิตของชุมชนและความเป็นอยู่ของชุมชนได้อย่างแท้จริง

 

“วิสาหกิจชุมชนกลุ่มสมุนไพรลูกประคบเซรามิก” บ้านศาลาบัวบก อ.เกาะคา จ.ลำปาง เป็นสถานที่ที่ผ่อนคลายทางด้านร่างกายและอารมณ์ ของนักท่องเที่ยวที่รักสุขภาพ โดยการใช้ลูกประคบสมุนไพรเซรามิก ประคบและนวดตามกล้ามเนื้อเพื่อความผ่อนคลาย ซึ่งถือเป็นนวัตกรรม โดยการนำเศษวัสดุดินขาวที่เหลือใช้จากการทำเซรามิคมาทำเป็นก้อนกลมๆ แล้วนำมารวมกับสมุนไพรจากพืชผักต่างที่เป็นผลผลิตในพื้นที่ เช่นเมล็ดถั่วดำ ถั่วเหลือง ลูกเดือย พิมเสน การบูร เกลือ ไพล …ฯลฯ นำมาห่อเป็นลูกประคบใส่ในถุงผ้า มีกลิ่นหอมคลายความเมื่อยล้าหลังจากเหนื่อยล้ากับการท่องเที่ยวมาทั้งวัน

 

“วัดพระธาตุจอมปิง” อ.เกาะคา จ.ลำปาง เป็นวัดโบราณที่มีตำนานการสร้างมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าติโลกราชแห่งอาณาจักรล้านนา โดยความโดดเด่นของวัดนี้ คือมหัศจรรย์แห่งเงาสะท้อนของพระธาตุกลับหัว ผ่านรูเล็กๆ บนหน้าต่างที่เผยความงามให้เห็นบนพื้นภายในพระอุโบสถตลอดเวลาในช่วงที่มีแสงสว่างทั้งกลางวันและกลางคืน นอกจากนี้ยังมีวัตถุโบราณต่างๆ ที่ขุดพบภายในบริเวณวัดซึ่งนำมาจัดแสดงให้ได้ศึกษาเรียนรู้

 

“ร้านกาแฟก๋างต้ง” อ.เกาะคา จ.ลำปาง เป็นร้านกาแฟอยู่กลางทุ่งนา มีบรรยากาศที่โอบล้อมไปด้วยนาข้าวเขียวขจี มองเห็นวิวท้องทุ่งและภูเขาได้ไกล บรรยากาศโดยรอบมีจุดถ่ายภาพให้นักท่องเที่ยวได้เก็บเป็นที่ระลึก และมีดาดฟ้าซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถขึ้นไปนั่งทานเครื่องดื่มและชมวิวด้านบนได้ และแน่นอนกาแฟที่นี้ก็อร่อยไม่แพ้ที่อื่นและยังมีเมนูอาหารจานด่วนให้บริการด้วย

 

“เขาส่องกระจกวัดทาดอยแก้ว” อ.เกาะคา จ.ลำปาง สถานที่แห่งนี้เดิมชื่อถ้ำผาบ่อง ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นเขาส่องกระจก ซึ่งจะมีปล่องหน้าผาคล้ายกับโครงกระจกอยู่บนดอยแก้ว โดยมีถ้ำท่าค้า ถ้ำผาหนาม อยู่พื้นที่บนเขาเดียวกัน ซึ่งถูกค้นพบภายหลัง การขึ้นไปท่องเที่ยวถ้ำเขาส่องกระจกดอยแก้ว ถ้ำท่าค้า ถ้ำผาหนาม จะต้องเดินขึ้นบันได 200 ขั้น ใช้เวลาประมาณ 15นาที เมื่อขึ้นไปถึงเขาส่องกระจกจะสามารถมองเห็นทัศนียภาพเป็นภูเขาล้อมรอบ และชมถ้ำแอบ ข้างในถ้ำมีโครงกระดูกโบราณของสัตว์ต่างๆ ใกล้กันขึ้นไปเป็นแท่นหินซึ่งคาดว่าใช้นั่งประกอบพิธีทางศาสนาของพระสงฆ์ และรอยเท้ามนุษย์โบราณ ตามคำเล่าขานของผู้เฒ่าผู้แก่เชื่อว่าเป็นรอยเท้าของเทวดาที่ชุมนุมของเหล่าเทพเทวดา เลยไปทางใต้สันเขาเดียวกันจะพบถ้ำห้วยฮวก มีทางเดินลึกลงไป และมีปล่องระบายอากาศอยู่ข้างบน นอกจากนี้ยังพระพุทธรูปเชียงแสน สิงห์1 ให้กราบไหว้บูชาอยู่บนเขา ซึ่งปลุกเสกโดยหลวงพ่อเกษม เขมโก

 

“บ้านโต้งคาเฟ่” อ.เกาะคา จ.ลำปาง เป็นอีกหนึ่งร้านกาแฟและร้านอาหารที่อยู่กลางทุ่งนา บรรยากาศเย็นสบายสวยงามไปด้วยนาข้าวและธรรมชาติโดยล้อมที่สวยงามเขียวขจี บ้านโต้งคาเฟ่มีบริการทั้งเครื่องดื่ม ชา กาแฟ ฯลฯ และมีอาหารไว้บริการนักท่องเที่ยว

 

“ตูบแก้วมา” อ.เสริมงาม จ.ลำปาง ศูนย์เรียนรู้ผ้าทอมือ กลุ่มชุมชนผ้าฝ้ายปั่นมือย้อมสีธรรมชาติบ้านนาเดา ที่เป็นแหล่งให้นักท่องเที่ยวหรือผู้ที่สนใจมาศึกษาเรียนรู้ ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมและเป็นเอกลักษณ์คือผ้าขนหนู ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ซึ่งเป็นการนำฝ้ายที่ผ่านการเพาะปลูกแบบปลอดสารพิษ มาปั่นเป็นเส้นด้ายด้วยมือ จนได้เส้นด้ายที่หนานุ่มมาทอเป็นผืนผ้า เป็นการทอโดยการใช้เส้นฝ้ายปั่นมือย้อมสีธรรมชาติ เนื้อผ้ามีความแข็งแรง ผิวสัมผัสที่นุ่มฟู ดูดซับน้ำและระบายอากาศได้ดี

 

“สะพานขัวแตะวัดนางอย” อ.เสริมงาม จ.ลำปาง เป็นสะพานที่ทำจากไม้ไผ่ มีความยาวประมาณ 900 เมตร เชื่อมระหว่างวัดหลวงนางอย และ อุโบสถ หรือ โบสถ์ ของวัดเกิดจากพลังศรัทธากว่า 3 หมู่บ้านใน ต.เสริมซ้าย ที่ได้ร่วมกันสร้างขึ้นมา นักท่องเที่ยวมักจะเที่ยวชมและแวะถ่ายรูป เนื่องจากสะพานอยู่กลางทุ่งนามีบรรยากาศร่มรื่น

 

“ศูนย์ศิลปาชีพบ้านแม่ต๋ำ” อ.เสริมงาม จ.ลำปาง เป็นโครงการในพระราชดำริ ก่อสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2527 อยู่ห่างจากตัวเมือง 30 กิโลเมตร มีกิจกรรมหลัก ๆ คือ การปลูกป่า การอนุรักษ์พันธุ์ไม้ การเพาะปลูกกล้าไม้ และการป้องกันรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในพื้นที่รับผิดชอบ การป้องกันไฟป่า และการตระเวนป้องกันผู้ลักลอบตัดไม้ทำลายป่า
กิจกรรมด้านเกษตรกรรม มีแปลงสาธิตการเกษตร ให้ราษฎรได้ดูเป็นตัวอย่าง มีการแจกพันธุ์พืชและสัตว์ ให้ทดลองปลูกและเลี้ยง งานหัตถกรรม เช่น เครื่องปั้นดินเผา เซรามิก การทอผ้าฝ้ายและผ้าไหม การแกะสลัก ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม พร้อมกับนำออกจำหน่ายเป็นรายได้เสริม

 

“วัดบ้านปาง” อ.ลี้ จ.ลำพูน วัดแห่งนี้เป็นบ้านเกิดของครูบาเจ้าศรีวิชัย เป็นวัดที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยบวชเรียนเป็นวัดแรก และยังเป็นสถานที่มรณภาพ ในบริเวณวัดมีความร่มรื่น เมื่ออยู่ด้านบนจะมองเห็นวิวทิวทัศน์สวยงาม เนื่องจากวัดตั้งอยู่บนเนินเขา มีโบราณสถานเก่าแก่ คือพระวิหารหลวง ที่สร้างขึ้นตามรูปแบบของสถาปัตยกรรมล้านนา ลักษณะอ่อนช้อยสวยงามมากที่สุดแห่งหนึ่ง มีพิพิธภัณฑ์อัฐบริขารครูบาเจ้าศรีวิชัย ซึ่งเก็บของใช้ส่วนตัวของท่านไว้อย่างครบถ้วน

 

วัดพระพุทธบาทผาหนาม” ปูชนียสถานที่สำคัญอีกแห่งของ อ.ลี้ จ.ลำพูน ภายในวัดมีสองจุดให้ชมคือ ตัววัดที่ตั้งอยู่ด้านล่างจะมีรูปปั้นขนาดใหญ่ของครูบาอภิชัยขาวปีเป็นจุดเด่น ภายในวัด ณ หอปราสาทรักษาศพ ได้เก็บสรีระสังขารที่ไม่เน่าเปื่อยของครูบาอภิชัยบาวปีไว้ในโลงแก้ว และในทุกวันที่ ๓ เดือน มี.ค. ของทุกปี จะมีประเพณีเปลี่ยนผ้าครองสรีระครูบาอภิชัยขาวปี ซึ่งจะมีศิษยานุศิษย์หลั่งไหลมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก ส่วนอีกจุดคือองค์พระธาตุที่ตั้งอยู่บนยอดดอย ๒ องค์ (พระธาตุทอง พระธาตุขาว) หากใครที่เดินทางขึ้นไปบนพระธาตุช่วงเวลาประมาณ ๖ โมงเช้า จะเห็นทะเลหมอกและวิวทิวทัศน์ของ อ.ลี้ ได้แบบ ๓๖0 องศา

“วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม” อ.ลี้ จ.ลำพูน วัดประจำหมู่บ้านชุมชนพระบาทห้วยต้ม ที่มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา อีกทั้งคนในหมู่บ้านยังถือศีล 5 และกินมังสวิรัติ ซึ่งกฎของการเข้ามาเยี่ยมชมวัดพระพุทธบาทห้วยต้มและชุมชนพระบาทห้วยต้ม คือ ห้ามรับประทานเนื้อสัตว์ และไม่นำเนื้อสัตว์เข้ามาในหมู่บ้าน ชาวบ้านจะไม่เลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นอาหาร และในชุมชนจะขายอาหารที่เป็นมังสวิรัติเท่านั้น ภายในวิหารมีโลงแก้วบรรจุสรีระสังขารของครูบาชัยยะวงศาพัฒนา ที่ไม่เน่าเปื่อย ให้ผู้คนได้ระลึกถึงคุณงามความดีและกราบสักการะ และทุกวันพระคนในชุมชนพระบาทห้วยต้มจะหยุดทำงานเพื่อเข้าวัดทำบุญตักบาตร ฟังธรรม และถวายสังฆทานผัก ที่ทำสืบทอดต่อกันมา ถือเป็นวิถีดีงามหนึ่งเดียวในประเทศไทย

 

“ชุมชนน้ำบ่อน้อย” อ.ลี้ จ.ลำพูน เป็นชุมชนที่ใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย ปฏิเสธการใช้ไฟฟ้าและน้ำประปา โดยไม่สนใจความเปลี่ยนไปของโลกภายนอก ทำให้ชุมชนแห่งนี้ยังคงรักษา “วิถีชีวิตแบบโบราณ” ไว้ได้อย่างเหนียวแน่น ภายในหมู่บ้านมี บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่เย็นและใสสะอาด โดยตัวบ่อจะมีความกว้างประมาณปากแก้วน้ำ 1 ใบ ลึกประมาณ 1 ศอก ถูกพบเจอจากชาวบ้านที่มาหาของป่าโดยบังเอิญ ชาวบ้านจำนวนกว่า 10 คนที่มาเจอ ได้ลองหาท่อนไม้มาดูดวิดน้ำในบ่อออก แต่ทำเท่าไหร่น้ำก็ยังคงมีเรื่อยๆ ชาวบ้านจึงเกิดความสงสัย และได้กลับไปชวนคนในหมู่บ้านมีอีก 20 กว่าคน มาลองวิดน้ำในบ่อนี้ดูอีกที แต่น้ำยังคงไม่ลดลงเช่นเดิม กลายเป็นความน่าประหลาดใจ และน้ำแห่งนี้ไม่เคยแห้งเลย
หลวงปู่ครูบาชัยวงศา ได้บอกว่าน้ำในบ่อนี้อาจจะเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ของพระฤาษีที่เคยมาอาศัยอยู่และเอาไว้สำหรับใช้สอย ซึ่งคนในหมู่บ้านได้เคยลองขุดบ่อบริเวณใกล้ๆ กันในความลึก 10-20 ศอก แต่ก็ไม่เจอน้ำเลยซักหยด เมื่อเห็นเป็นเช่นนั้นคนในชุมชนจึงเกิดความเลื่อมใส ขออนุญาตครูบาเจ้าเข้ามาอาศัยอยู่บริเวณนี้ โดยตั้งปณิธานไว้ว่าจะอยู่แบบสมถะเยี่ยงพระฤาษี จนถึงปัจจุบันชาวบ้านได้เข้ามาอาศัยอยู่กว่า 14 ปีแล้ว มีมากถึง 50 หลังคา ถือเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่น่าสนใจเข้ามาท่องเที่ยว และศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิตของคนในชุมชน

“พระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย” อ.ลี้ จ.ลำพูน มาเที่ยววัดพระบาทห้วยต้มแล้ว ต้องไม่พลาดที่จะมากราบไหว้ขอพรองค์พระมหาเจดีย์ศรีเวียงชัย ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับมหาธาตุเจดีย์ชเวดากองในประเทศพม่า เป็นสถาปัตยกรรมทางพระพุทธศาสนาศิลปะล้านนา ที่สร้างขึ้นด้วยศิลาแลงทั้งองค์ และสิ่งที่คาดไม่ถึงนั้นก็คือ ศิลาแลงที่นำมาสร้างนั้นขุดได้จากบ่อศิลาแลงด้านหลังของวัด มหาเจดีย์องค์นี้ มีพระมหาเจดีย์องค์ใหญ่เป็นองค์ประธานอยู่ตรงกลาง และมีพระเจดีย์องค์เล็กเป็นบริวารล้อมรอบจำนวน 48 องค์ ตามแบบพระสถูปเจดีย์ศิลปะลังกา ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยมีฐานกว้างประมาณ 1 ไร่ ส่วนสูงจากบัวยอดฉัตรลงมาถึงพื้นยาว 64.39 เมตร โดดเด่นเห็นแต่ไกล เป็นเจดีย์ที่ชาวปกาเกอะญอให้ความเคารพศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง

ผู้ริเริ่มให้มีการออกแบบและสร้าง คือ หลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา โดยมีเจตนาว่า เมื่อก่อนชาวปกาเกอะญอที่อาศัยในชุมชนห้วยต้ม ต้องเดินทางไปนมัสการเจดีย์ชเวดากองที่ประเทศพม่า บางคนมีเงินน้อยไม่สามารถเดินทางไปพม่าได้ หลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา จึงจัดสร้างขึ้น เพื่อให้ชาวปกาเกอะญอและคนไทยได้กราบไหว้บูชา เป็นแห่งแรกของประเทศไทยและเป็นแห่งที่สองของโลก โดยได้ริเริ่มออกแบบจัดสร้าง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 จนหลวงปู่ครูบาฯ ละสังขาร เมื่อ พ.ศ. 2543 คณะศิษยานุศิษย์จึงร่วมกันสร้างต่อจนเสร็จ ในปี พ.ศ. 2549 จึงน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเป็นพระราชกุศลแค่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ เพื่อเฉลิมฉลองในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60ปี