ขอเล่าย้อนไปถึงที่มาของน้ำพริก ให้ฟังกันก่อนว่า ในสมัยพ่อขุนรามคำแหง ในยุคนั้น น้ำพริกที่ทำกินกันไม่มีพริกเป็นส่วนผสมเลย แต่คนโบราณใช้สมุนไพรอย่าง กระเทียม มะแขว่น หรือพริกไทยที่มีรสชาติความเผ็ดร้อนแทน ซึ่งพริกได้ถูกนำเข้ามาในเมืองไทยสมัยอยุธยา และได้กลายเป็นอาหารสำคัญรองจากข้าว หลังจากนั้นคนไทยแต่ละภูมิภาค นำพริกมาต่อยอดกันเอง เช่นเดียวกับเมนูแกงเลียงก็ต่อยอดมาจากน้ำพริก ที่นำน้ำพริกที่เหลือๆ มาใส่ในน้ำต้มเดือดแล้วใส่ผักลงไป เห็นใครชอบทานน้ำพริก อย่าไปคิดว่าเขาคงต้องขาดสารอาหารผอมแห้งตายแน่ๆ รู้ไหมว่าส่วนประกอบในการทำน้ำพริกแต่ละชนิดมีประโยชน์เหลือล้น วันนี้เลยขอนำเกร็ดความรู้เรื่องสารอาหารจากน้ำพริกมาบอกกัน

– พริก

คือ ส่วนประกอบที่สำคัญในการทำน้ำพริก พริกทุกชนิดมีสารแคปไซซิน ซึ่งเป็นสารที่มีคุณสมบัติในการป้องกันความชรา และยังมีเบต้าแคโรทีนและวิตามินซีสูง ต้านอนุมูลอิสระ

– หอมแดง, กระเทียม

มีเซเลเนียม ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ และมีโปรเตสเซียมเยอะ ทางการแพทย์ระบุว่ามีคุณสมบัติช่วยให้เซลล์แข็งแรง และยังจะได้น้ำมันจากกระเทียมซึ่งเป็นสารแอนตี้เซปติก ช่วยป้องกันการติดเชื้อและลดไขมันในเส้นเลือด

– กุ้งแห้ง

มีแคลเซียมสูง ช่วยทำให้กระดูกและฟันแข็งแรง

– มะเขือพวง

มีเส้นใยสูง ป้องกันท้องผูก และยังมี ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด ส่วนประกอบของพริกแกงมีสารต้านมะเร็ง ส่วนขมิ้นมีสารเคอมิวมิน กรดเฟอลิกฟลาโรวอยด์ เป็นสารต้านมะเร็ง

– กะปิ

มีวิตามินบี 12 ช่วยสร้างเม็ดเลือด และแคลเซียมสูงกว่านมวัว 15 เท่า (น้ำพริก 1 ถ้วย ใช้กะปิ 20-30 กรัม ให้แคลเซียม 500 ม.ก.) นอกจากนี้ กะปิยังให้โซเดียมโปรเตสเซียมและไอโอดีน

– ตะไคร้

ให้สารอาหารประเภทเกลือแร่  และวิตามิน ได้แก่  แคลเซียม  วิตามินบี วิตามินซี ช่วยให้เจริญอาหาร และบรรเทาอาการจุก  เสียด  แน่นท้อง  เลือดลมไหลเวียนไม่สะดวก

– ขมิ้น

มีวิตามิน เอ, ซี, อี อีกทั้งช่วยลดไขมันในตับ สมานแผลภายในกระเพาะอาหาร ช่วยย่อยอาหาร ทำความสะอาดลำไส้ เปลี่ยนไขมันให้เป็นกล้ามเนื้อ ต้านอนุมูลอิสระป้องกันมะเร็งตับ สร้างภูมิคุ้มกันให้กับผิวหนัง ฯลฯ  

    …เดี๋ยวๆๆ ยังไม่หมดแค่นี้ นอกเหนือจากคุณค่าทางอาหารที่ได้รับจากส่วนประกอบของน้ำพริกแล้ว ยังจะได้วิตามินและเกลือแร่จากผักต่างๆ ที่นำมาต้มทานแกล้มน้ำพริกอีกด้วย  เห็นอย่างนี้แล้ว อย่าลืมหันมาทานน้ำพริกกัน เราจะได้เพิ่มสารอาหารให้ร่างกายมากกว่าที่คิดจริงๆ