วันที่ 11 สิงหาคม 2560 เวลา13.30 น. นายแพทย์ธีรพล โตพันธานนท์ อธิบดีกรมการแพทย์  เป็นประธานในพิธีเปิดเครื่องฉายรังสีแบบปรับความเข้มหมุนรอบตัว (Volumetric Modulated Arc Therapy : VMAT) ณ กลุ่มงานรังสีรักษา โรงพยาบาลมะเร็งลำปาง โดยมีคณะผู้บริหารกรมการแพทย์ ตัวแทนหน่วยงานสาธารณสุขในจังหวัดลำปาง คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์มะเร็งลำปาง และแขกผู้มีเกียรติในจังหวัดลำปาง ร่วมพิธีฯพร้อมแถลงข่าวการเปิดเครื่องฉายรังสีเครื่องใหม่แก่สื่อมวลชน

อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่าโรคมะเร็งเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย ซึ่งประเทศต้องเผชิญกับภาระสุขภาพจากโรคมะเร็งเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะภาคเหนือซึ่งเป็นภูมิภาคหนึ่งที่พบอุบัติการณ์โรคมะเร็งสูงและมีแนวโน้มของโรคมะเร็งเพิ่มขึ้นทุกพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมะเร็งเต้านม  มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ที่มีจำนวนผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวในช่วงระยะเวลา 10 ปี

ที่ผ่านมา และกรมการแพทย์มีบทบาทในการสนับสนุนให้หน่วยงานในสังกัดกรมการแพทย์ พัฒนาศักยภาพการบริการทางการแพทย์เฉพาะทางในระดับตติยภูมิ  ให้ประชาชนในทุกภูมิภาคได้รับโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีการรักษาขั้นสูง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วม  การใช้ทรัพยากรร่วมกันระหว่างสถาบันและสหสาขาวิชาชีพ  เพื่อศึกษาวิจัย  ประเมินเทคโนโลยี และถ่ายทอดองค์ความรู้ทางการแพทย์ ผ่านการศึกษาวิจัยด้านการประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์  เฉพาะทางแก่สถานบริการสุขภาพ นำสู่การใช้เทคโนโลยีที่สมคุณค่า เพื่อขับเคลื่อนความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนตามยุทธศาสตร์การการแพทย์และกระทรวงสาธารณสุขต่อไป

นอกจากนี้นายแพทย์อดิศัย  ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะเร็งลำปาง กล่าวถึงสถานการณ์โรคมะเร็งในภาคเหนือว่ายังคงเป็นปัญหาสำคัญ จากสถิติรายงานทะเบียนมะเร็งภาคเหนือ ของงานทะเบียนมะเร็ง โรงพยาบาลมะเร็งลำปาง พบอุบัติการณ์โรคมะเร็งในภาคเหนือสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศไทย จำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งรายใหม่ในภาคเหนือมีประมาณ 16,860 รายต่อปี  หรือเฉลี่ย 2 รายต่อชั่วโมง  โดยผู้ชายมีอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งสูงกว่าเพศหญิง

ปัจจุบันโรคมะเร็งที่พบมากในภาคเหนือ ในเพศชาย 3 อันดับแรก ได้แก่ มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปอด และมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ตามลำดับ ส่วนเพศหญิง 3 อันดับแรก ได้แก่มะเร็งเต้านม  มะเร็งปอด และมะเร็งปากมดลูก ตามลำดับ ทั้งนี้ โรคมะเร็งในภาคเหนือที่พบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คือ มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก มะเร็งเต้านม และมะเร็งต่อมลูกหมาก

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะเร็งลำปางกล่าวต่อว่า โรงพยาบาลมะเร็งลำปางในฐานะเป็นหน่วยบริการตติยภูมิ และโรงพยาบาลรับส่งต่อผู้ป่วยโรคมะเร็งของกรมการแพทย์ ที่รับผิดชอบจังหวัดในภาคเหนือ  ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการดูแลและรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งจึงมีการพัฒนาศักยภาพด้านการรักษาโรคมะเร็ง โดยเฉพาะการรักษาด้วยรังสีอย่างต่อเนื่อง โดยเปิดให้บริการรังสีรักษาตั้งแต่ปี 2538 ด้วยการฉายรังสีเทคนิคพื้นฐาน และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เช่น การฉายรังสีสามมิติ (3DCRT) การฉายรังสีปรับความเข้ม (IMRT) จนถึงการฉายรังสีแบบปรับความเข้มหมุนรอบตัว (VMAT) ตลอดจนการฉายรังสีศัลยกรรมร่างกาย (Stereotactic Body Radiation Therapy; SBRT) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีขึ้นสูงด้านรังสีรักษาในปัจจุบันมาใช้ในการรักษาผู้ป่วยในเขตบริการสุขภาพที่ 1 ได้แก่  จังหวัดเชียงราย  พะเยา  ลำปาง  แพร่ น่าน เชียงใหม่  ลำพูน และแม่ฮ่องสอน ส่วนเขตบริการสุขภาพที่ 2 ได้แก่ จังหวัดพิษณุโลก อุตรดิตถ์ ตากและสุโขทัย

ซึ่งในปีงบประมาณ 2560 ได้รับงบประมาณจากกรมการแพทย์  จำนวน 166,300,000.00 บาท (หนึ่งร้อยหกสิบหกล้านสามแสนบาทถ้วน) ในการจัดซื้อเครื่องฉายรังสีอัตราปริมาณรังสีสูง พร้อมเตียงฉายรังสีปรับได้แบบอิสระหกทิศทาง และระบบสารสนเทศด้านรังสีรักษาและมะเร็งวิทยา (High Energy Linear Accelerator with  six degrees of freedom couch for  SBRT and radiation  oncology information system)  สำหรับการให้บริการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งด้วยเทคโนโลยีขึ้นสูงด้านรังสีรักษา เช่น การฉายรังสีศัลยกรรม (SRS) การฉายรังสีศัลยกรรมร่างกาย (SBRT)  และการฉายรังสีปรับความเข้มแบบหมุนรอบตัว (VMAT)  ในเขตบริการสุขภาพที่ 1  และ 2 ทำให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งในระยะเริ่มแรกมีโอกาสหายขาด  และลดอัตราการเกิดผลข้างเคียงของการฉายรังสี ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตและสุขภาวะหลังการรักษาที่ดีขึ้น  สามารถประกอบอาชีพเพื่อขับเคลื่อนความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างยั่งยืน กอปรกับสามารถส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้  การศึกษาวิจัย  การประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ ในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง ตามยุทธศาสตร์โรงพยาบาลมะเร็งและกรมการแพทย์อีกประการหนึ่ง

เครื่องฉายรังสีดังกล่าว เป็นเครื่องฉายรังสีที่รองรับเทคนิครังสีศัลยกรรม และรังสีศัลยกรรมร่างกาย  เครื่องแรกในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข สามารถให้บริการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งในทุกระบบของร่างกายด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงด้านรังสีรักษา วันละ 50-60 ราย ต่อวัน โดยจะเปิดให้บริการได้ตั้งแต่ วันที่ 1 กันยายน 2560 เป็นตันไป

เครื่องฉายรังสีแบบปรับความเข้มหมุนรอบตัว (Volumetric Modulated Arc Therapy : VMAT)เป็นเครื่องฉายรังสีที่ฉายรังสีด้วยเทคนิคการฉายรังสีแบบปรับความเข้มIMRT (Intensity Modulated Radiation Therapy) ที่พัฒนาขึ้นโดยให้เครื่องฉายรังสีสามารถหมุนได้รอบตัวผู้ป่วย สามารถควบคุมความเร็วของการหมุน ปริมาณของรังสี และการเคลื่อนที่ของวัตถุกำบังรังสีได้ ด้วยคุณสมบัติของเครื่องฉายรังสีแบบปรับความเข้มหมุนรอบตัว จึงสามารถกำหนดปริมาณรังสีให้เหมาะสมกับรูปร่างของก้อนมะเร็งซึ่งมีขนาดและรูปร่างไม่สม่ำเสมอได้โดยสามารถปรับความเร็วการหมุนของเครื่องฉายรังสี ปริมาณของรังสี การกระจายตัวของรังสี และการเคลื่อนที่ของวัตถุกำบังรังสี ซึ่งจะช่วยให้รังสีครอบคลุมเฉพาะก้อนมะเร็งทั้งหมด แต่ลดจำนวนรังสีต่ออวัยวะรอบๆ จึงลดผลกระทบที่อาจเกิดกับอวัยวะข้างเคียงได้ นอกจากนี้ยังช่วยลดระยะเวลาของการฉายรังสี ซึ่งใช้เวลาเพียง 5-10 นาที ผู้ป่วยจึงไม่ต้องนอนบนเตียงฉายรังสีนานลดโอกาสที่จะทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนจากการขยับตัวของผู้ป่วยในขณะฉายรังสีได้และในขั้นตอนการฉายรังสีจะใช้ระบบภาพนำวิถีแบบ 3 มิติช่วยตรวจสอบตำแหน่งของก้อนมะเร็งในตัวผู้ป่วย และนำข้อมูลมากำหนดและคำนวณในระบบคอมพิวเตอร์ก่อนที่จะฉายรังสีจริงเพื่อกำหนดตำแหน่งของก้อนมะเร็งในร่างกายผู้ป่วยให้ตรงกับบริเวณที่วางแผนการฉายรังสีไว  ซึ่งสามารถปรับหาตำแหน่งได้โดยใช้เตียงที่สามารถปรับระดับและทิศทางได้แบบอิสระหกทิศทาง ทำให้การฉายรังสีมีความถูกต้องแม่นยำและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้โรงพยาบาลมะเร็งลำปางยังมีระบบสารสนเทศด้านรังสีรักษาและมะเร็งวิทยา (radiation  oncology information system) เพื่อใช้บันทึกและทวนสอบความถูกต้องประวัติและข้อมูลการฉายรังสีทั้งหมดของผู้ป่วยได้อีกด้วย

อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวปิดท้ายว่า ประโยชน์ของเครื่องฉายรังสีดังกล่าวฯ ทำให้ประชาชนภาคเหนือ ได้รับโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีการรักษาขั้นสูง สามารถใช้ได้กับทุกสิทธิ์การรักษา แต่ไม่ใช่สำหรับผู้ป่วยทุกคน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับชนิดของโรคมะเร็ง ระยะที่เป็น  สภาพของผู้ป่วย และปัจจัยอื่นๆ แต่ทั้งนี้ โรคมะเร็งเป็นโรคที่ป้องกันได้ จึงอยากจะให้ทุกคนหมั่นตรวจสุขภาพเพื่อป้องกันโรคมะเร็งต่อไป