ดีป้า ส่งดิจิทัลแมนลำปาง ชิมลางลงพื้นที่เป็นพี่เลี้ยงให้ความรู้ ผู้ประกอบการเปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ๆด้านเทคโนโลยี หวังมีช่องทางทำตลาดออนไลน์จำหน่ายสินค้าเพิ่มขึ้น
นายวัชรินทร์ บูรพาสมบูรณ์ ตัวแทนจากสมาพันธ์ SMEs จังหวัดลำปาง กล่าวว่า จังหวัดลำปางเป็นหนึ่งในจังหวัดนำร่อง ของโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล ที่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือดีป้า ดำเนินการ และส่วนตัวได้ทำหน้าที่ที่ปรึกษาวิทยากรอาสาได้ลงพื้นที่พร้อมวิทยากรอาสาไปให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการแล้ว ซึ่งมีทั้งผู้ประกอบการโอทอป SMEs และผู้ประกอบการรายย่อยที่บางรายยังไม่ได้จดทะเบียน แต่ก็มีสินค้าจำหน่าย โดยในพื้นที่มีผู้ประกอบการรายย่อยที่จำหน่ายสินค้าออนไลน์อยู่แล้วร้อยละ 50 ส่วนอีกร้อยละ 50 คือ ผู้ประกอบการโอทอปและ SMEs ที่จำหน่ายสินค้าออฟไลน์ ไม่เคยจำหน่ายสินค้าออนไลน์มาก่อน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ

ทั้งนี้การลงพื้นที่ให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการมีอุปสรรคบ้าง แต่ทุกคนก็พร้อมจะเปิดใจเพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และแม้ว่าผลสำเร็จนั้นยังเห็นไม่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน แต่ผู้ประกอบการทุกคนมีความคาดหวังว่าจะเป็นการเพิ่มช่องทางทางการตลาดให้สามารถจำหน่ายสินค้าให้ได้เพิ่มมากขึ้นซึ่งข้อดีของโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลที่ดีป้าจัดทำขึ้น มีความแตกต่างจากโครงการอื่นตรงที่เป้าหมายของโครงการไม่ได้จบแค่การให้ความรู้เพียงครั้งเดียว แต่โครงการนี้ จะติดตามผลลัพธ์อย่างต่อเนื่อง และพร้อมที่จะให้ความรู้เพิ่มเติมเพื่อให้ผู้ประกอบการได้นำความรู้ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับตนเอง ครอบครัว และชุมชน

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการในจังหวัดลำปางส่วนใหญ่ มีทั้งวิสาหกิจชุมชน SMEs รายเล็กถึงรายกลาง บุคคลทั่วไป ขณะที่สินค้าส่วนใหญ่ในจังหวัดลำปาง มีตั้งแต่อาหารแปรรูป งานฝีมือ ผ้าถักผ้าทอ และเซรามิค ซึ่งเริ่มเข้าสู่การจำหน่ายผ่านระบบออนไลน์บ้างแล้ว

นางสาวภรณ์รพี ตรียกุล ตัวแทนจากสมาพันธ์ SME จังหวัดลำปาง ในฐานะที่ปรึกษาวิทยากรอาสา กล่าวว่า การให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการจะทำให้สามารถใช้เทคโนโลยีเพื่อการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ได้มากขึ้น ขณะที่ทีมที่ปรึกษาและวิทยากรอาสาได้หาข้อมูลเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลให้มา เพื่อปรับใช้ให้เหมาะสมกับผู้ประกอบการจังหวัดลำปาง ในการต่อยอดจำหน่ายสินค้าให้ได้มากขึ้น อีกทั้งวิทยากรอาสาที่ลงพื้นที่ให้ความรู้มีความรับผิดชอบเปรียบเสมือนเป็นพี่เลี้ยงให้กับผู้ประกอบการ ทำให้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดสนิทสนมกันในกลุ่มย่อยระหว่างวิทยากรอาสาและผู้ประกอบการ เมื่อมีข้อสงสัย ผู้ประกอบการจะกล้าสอบถามและทดลองสิ่งใหม่ๆสามารถเรียนรู้เทคโนโลยีต่างๆได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการอบรมกลุ่มย่อย ที่ทุกคนยินดีพร้อมที่จะเรียนรู้ จึงเชื่อว่า ผู้ประกอบการของจังหวัดลำปางร้อยละ 80-90 ที่ได้รับความรู้จากโครงการนี้ จะประสบความสำเร็จได้ หลังนำความรู้ที่ได้รับไปพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจำหน่ายสินค้ามากขึ้นด้วย