ชื่อสะพานนี้คงคุ้นหูกันดี เพราะเป็นหนึ่งสะพานของเมืองไทยที่มีประวัติศาสตร์มายาวนาน พาตัวเองผ่านพ้นวิกฤตมาอย่างโชกโชน  ทั้งเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2463 ที่ท่อนซุงจำนวนมหาศาลทะยานไหลมากับสายน้ำเชี่ยวกราก หรือครั้นเมื่อเจ้าของนครลำปางทรงตัดสินใจที่จะระเบิดสะพานทิ้ง ระดับน้ำก็กลับลดลงเรื่อยๆ จึงไม่มีการทำลายสะพานแต่อย่างใด ซึ่งคนในลำปางมักจะเรียกว่า สะพานขาว เนื่องจากสะพานมีสีขาวนั่นเอง สะพานข้ามแม่น้ำวังนี้ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ที่ถนนรัษฎา มีเครื่องหมายไก่ขาวและครุฑหลวงประดับไว้ตรงหัวสะพาน ถือเป็นสัญลักษณ์คู่กับจังหวัดลำปางมาช้านาน

สะพานรัษฎาภิเศกรุ่นแรกนั้นเป็นสะพานไม้สร้างในสมัยเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต  เจ้าของนครลำปางองค์สุดท้าย เพื่อเชื่อมการปกรองแขวงหัวเวียง (สวนดอก) กับแขวงเวียงเหนือเข้าด้วยกัน โดยสร้างเสร็จในปี พ.ศ.  ๒๔๓๖  ตรงกับรัชสมัย รัชกาลที่ 5 นับเป็นสะพานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศเลยทีเดียว  คือยาวถึง 120 เมตร ชวนให้นึกถึงความกว้างอลังการของแม่น้ำวังสมัยก่อน และได้ตั้งชื่อสะพานว่า “รัษฎาภิเศก” เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นที่ระลึกในงานพระราชพิธีรัชดาภิเษกรัชกาลที่ 5

สะพานไม้รุ่นแรกพังลงในปี พ.ศ. 2444 เพราะทนแรงกระแทกจากท่อนซุงจำนวนมหาศาลยามน้ำหลากไม่ไหว เจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิตจึงต้องมีจดหมายไปถึงกระทรวงมหาดไทย  ขอพระราชทานเงินมาสร้างสะพานขึ้นใหม่เป็นรุ่นที่สอง ครั้งนี้สะพานรัษฎาภิเศกเป็นสะพานไม้เสริมเหล็ก ต่อมาสะพานรัษฎาภิเศกรุ่นที่สองก็พังลงอีกในปี พ.ศ. 2458 ด้วยประสบปัญหาแบบเดิม คือผุกร่อนไปตามกาลเวลา จึงมีการเสนอขึ้นไปถึง รัชกาลที่ ๖ ว่า “ควรทำอย่างแฟโรกอนกริตเสียทีเดียว”  ซึ่งพระองค์ก็ทรงเห็นด้วย เนื่องจากทรงเล็งเห็นว่าสร้างด้วยคอนกรีตนั้นจะมั่นคงถาวรในระยายาวกว่า

ในที่สุด  สะพานรัษฎาภิเศกรุ่นที่สามก็สร้างเสร็จในปี  พ.ศ.  ๒๔๖๐  เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กทาสีขาวโดดเด่นสะดุดตาด้วยรูปทรงโค้งคันธนูรวม 4 โค้ง ตั้งขวางเต็มลำน้ำ ทั้งยังมีสัญลักษณ์ที่สื่อความหมายถึงความเป็นมาอยู่หลายประการ ดังนี้

เสาสี่ต้น ซึ่งตั้งอยู่ตรงหัวสะพานฝั่งละสองต้น เปรียบดังความมั่นคงแข็งแรงและสง่างาม

พวงมาลายอดเสา บนยอดเสาทั้งสี่ด้านของเสาทั้งสี่ต้น  เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

ครุฑหลวงสีแดง ประดับอยู่กลางเสาด้านหน้าทุกต้น ทั้งสองฝั่งหัวสะพาน บ่งบอกถึงตราสัญลักษณ์แห่งแผ่นดินสยามสมัยรัชกาลที่  6

ไก่หลวง หรือ ไก่ขาว ที่ประดับตรงกลางเสาด้านข้างทุกต้น ทั้งสองฝั่งหัวสะพาน คือสัญลักษณ์ประจำนครลำปาง สื่อถึงสมัยเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต

คำว่า  “มีนาคม  ๒๔๖๐  กลางเสาด้านในทุกต้น ทั้งสองฝั่งหัวสะพาน บอกถึงวันที่สะพานแล้วเสร็จ

คำว่า  สะพานรัษฎาภิเศก  ตรงกลางคานเชื่อมโค้งสะพานคู่แรกทั้งสองฝั่งหัวสะพาน  บ่งบอกถึงการได้รับพระราชทานนามนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

สะพานรัษฎาภิเศกอยู่ใน อ.เมือง จากห้าแยกหอนาฬิกา ตรงมาตาม ถ.บุญวาทย์ ถึงวัดบุญวาทย์ เลี้ยวซ้ายเข้า ถ.ไปรษณีย์ เลี้ยวขวาเข้าข้างที่ทำการไปรษณีย์ลำปาง แล้วเลี้ยวซ้ายเข้า ถ.รัษฎา (หน้าวัดคะตึกเชียงมั่น) ตรงไปประมาณ 150 เมตร